ระวัง!! 6 โรคอันตรายที่มากับฤดูร้อน!!

0

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว แค่คิดก็ร้อนรุ่มกลุ้มอุรา เพราะนอกจากเราจะต้องรับมือกับอากาศร้อนหูดับตับไหม้แล้ว ยังต้องระวังโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมฤดูร้อนด้วย

 

ระวัง!! 6 โรคอันตรายที่มากับฤดูร้อน!!

 

  1. โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea)

สาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

 

  1. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

สาเหตุเกิดเนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุกๆ ดิบๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่หากเป็นไม่มาก จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม

 

  1. โรคบิด (Dysentery)

สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน เช่น การรับประทานอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายก็อาจมีอาการกลับมาใหม่ได้อีก

 

  1. ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย (Typhoid)

สาเหตุเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งจะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีน แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

 

  1. อหิวาตกโรค (Cholera)

สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก การรักษาควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป กับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

 

  1. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

สาเหตุเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง และหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *