“โรคเมลิออยโดสิส” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักโดยข้อมูลจากควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบผู้ป่วยโรคนี้ 3,171 ราย เสียชีวิต 6 รายมักพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและผู้มีอาชีพที่ข้องเกี่ยวกับการสัมผัสดินและน้ำระหว่างการทำงาน
ว่าแล้วก็ไปอ่านรายละเอียดกันดีกว่า ดูซิว่าคุณเสี่ยงกับโรคนี้มั้ย?
“โรคเมลิออยโดสิส”
หรือ “โรคเมลิออย” (Melioidosis)เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderiapseudomallei ซึ่งไม่มีอาการจำเพาะจนถึงมีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ หรือม้าม และหรือมีการติดเชื้อทางกระแสโลหิตอย่างรวดเร็วสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดิน หรือน้ำผ่านทางแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อ หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปน เชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ ที่อยู่ในดินและน้ำ ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วัน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อและการแสดงอาการของโรค
กลุ่มเสี่ยงของโรคเมลิออยโดสิส จึงได้แก่ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, ผู้ได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันต้าน ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องนานๆ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อที่รุนแรงด้วย
อาการของโรคเมลิออยโดสิสอาจพบได้หลายรูปแบบ ในที่นี้จะแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ
- อาการมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุน้ำหนักลด ต่อมาจึงเกิดอาการรุนแรงขึ้น
- อาการของการติดเชื้อเฉพาะที่มักพบการติดเชื้อที่ปอด มีอาการเหมือนปอดอักเสบคือ มีไข้ ไอมีเสมหะ น้ำหนักลดบางรายไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก บางรายมีอาการฝีในตับ ฝีในกระดูกหรือฝีที่ผิวหนัง
- การติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยเชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและตายอย่างรวดเร็ว อัตราป่วยสูงมาก ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตภายใน 2 – 3 วันหลังเข้าโรงพยาบาล
สรุปคร่าว ๆ คือ อาการของโรคนี้สามารถเลียนแบบโรคอื่นๆ ได้เกือบทุกโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดโรค ฉะนั้นหากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกจุด