“มะเร็งปอด” โรคร้ายที่สิงห์อมควันพรั่นพรึง

0

“มะเร็งปอด” เป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆของทั้งเพศชายและเพศหญิง (พบมากเป็นอันดับสองในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ) อย่างไรก็ดี มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น

“มะเร็งปอด” (Lung cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และมีความรุนแรงโรคสูงมาก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งทั้งหมดมะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง

“มะเร็งปอด” โรคร้ายที่สิงห์อมควันพรั่นพรึง

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer)

พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากจะรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี

2. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer)

พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แต่จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
1. บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์
2. การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
3. อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี
4. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่รุนแรงมากโรคหนึ่ง โอกาสรักษาหาย หรือ อัตรารอดที่ 5 ปี เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 1-2 ประมาณ 20-50% ระยะที่ 3 ประมาณ 5-15% และมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 ปี เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 4 ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสไม่เครียด ที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *