สร้างความสยองปนผวาได้ไม่น้อย กับกรณีแพทย์ในเมืองจีนผ่าตัดเอาลำไส้ขนาดยักษ์ของคนไข้ออกมาเนื่องจากเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว โดยลำไส้ที่ว่ามีขนาดยาว 30 นิ้ว มีน้ำหนักถึง 13 กิโลกรัม อื้อหือ! ขนาดเทียบเท่ามาตรฐานน้ำหนักของเด็กอายุ 2 ขวบทีเดียว
สาเหตุเป็นเพราะอะไรกันนะ?
เมื่อไม่นานนี้ เดอะซัน สื่อดังจากอังกฤษ นำเสนอข่าวรายกรณีแพทย์ในนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ผ่าตัดเอาลำไส้ขนาดยักษ์ของคนไข้ออกมา เนื่องจากคนไข้เป็น “โรคลำไส้ใหญ่โป่งพองโดยกำเนิด” มีสาเหตุมาจากลำไส้อุดตันในทารกแรกเกิด โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ผ่าตัดลำไส้จากคนไข้หนุ่มอายุ 22 ปี มีขนาดยาว 30 นิ้ว มีน้ำหนักถึง 13 กิโลกรัม สภาพเหมือนพร้อมจะระเบิดได้ตลอดเวลา ทำให้ชายหนุ่มมีรูปร่างเหมือนคนท้อง ต้องพึ่งยาระบายและยาอื่นๆ มานานหลายปี เพื่อช่วยบีบให้ลำไส้ทำงาน
โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด
หรือ “โรคลำไส้โป่งพองโดยกำเนิด” (Hirschsprung’s disease : HD) มีสาเหตุมาจากการขาดเซลล์ปมประสาท (ganglion cell) ของลำไส้ใหญ่ ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้ลำไส้บีบรัดตัวน้อยลงหรือไม่บีบรัดตัว ส่งผลให้อุจจาระผ่านส่วนของลำไส้อุดกั้น ส่วนลำไส้ส่วนที่อยู่ต้นมีการโป่งพองและมีผนังหนาขึ้น
อาการของผู้ป่วย “โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด”
ในเด็กแรกเกิดจะมีอาการท้องอืด การไม่ถ่ายขี้เทา (meconium) ครั้งแรกภายใน 24-28 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอาเจียน ส่วนในเด็กโตมีอาการท้องผูกต้องสวนอุจจาระเป็นประจำ มีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน มีอาการท้องอืดท้องโตมากกว่าเด็กปกติ
“โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด” มีอัตราการเกิดกับทารกแรกเกิด 1 ในทุกๆ 5,000 คน โดยส่วนใหญ่มักจะได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีบางกรณีที่อาการยังไม่แสดงผลชัดเจนจนเติบโตเข้าไปสู่วัยผู้ใหญ่
ในอดีตต้องรอให้เด็กโตจึงจะทำผ่าตัดทางหน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยต้องการสวนอุจจาระเพื่อระบายอุจจาระทุกวัน จนกว่าจะสามารถทำการผ่าตัดได้ จนในปัจจุบันได้มีการประยุกต์ทำการผ่าตัดทางทวารหนัก โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องท้อง ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น เจ็บแผลน้อยลง
ผู้ป่วยโรคนี้บางรายมีอาการชัดเจนหลังจากผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว เมื่อซักประวัติย้อนหลัง ส่วนมากมีความผิดปกติของการขับถ่ายมานาน ฉะนั้นหากมีอาการขับถ่ายผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค