อากาศแปรปรวนระวัง “โรคมือเท้าปากเปื่อย”

0

“โรคมือเท้าปากเปื่อย” (Hand foot mouth syndrome) เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ Eneterovirusหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ Coxsackie virus A16 และ Enterovirus71 พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในบ้านเราพบการระบาดตลอดทั้งปี แต่จะมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝนและช่วงที่มีอากาศร้อนชื้นโดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง มีลักษณะเฉพาะคือ มีตุ่มน้ำใสขอบแดงขึ้นที่บริเวณปาก มือ และเท้า

การแพร่ติดต่อของโรคส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสทางการหายใจ ไอ จามรดกัน การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยโรคนี้แพร่ติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่ายในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการป่วย นอกจากนี้หลังจากที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ประมาณ 1 เดือน ก็ยังสามารถพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าในระยะแรกของโรค

ผู้ป่วยโรคมือปากเท้าเปื่อยในช่วงวันแรกๆ อาจดูไม่ค่อยมีอาการผิดปกติอะไรมาก นอกจากเจ็บปาก มีแผลในปาก โดยจะเห็นเป็นแผลเล็กๆ หลายจุดในส่วนเพดานปากด้านในใกล้ทอนซิล และอาจมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาจะเริ่มเห็นจุดน้ำใสๆ ตามฝ่ามือฝ่าเท้า และบางครั้งจะเห็นตามตัว เช่น บริเวณก้น ในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นมักจะดีขึ้นเองในช่วง 4-5 วันต่อมา

Hand foot mouth syndrome

แต่แม้ว่าอาการทำท่าว่าจะดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนด้านอาการทางสมองและหัวใจเกิดขึ้นได้ ดังที่มีรายงานว่าในบางรายที่เข้ารักษาอยู่ในโรงพยาบาลแล้วพอดีขึ้นกลับไปบ้านกลับมีอาการทรุดลงอีกและเสียชีวิตได้ เนื่องจากอาการแทรกซ้อนทางด้านสมองและหัวใจนั้นอาจเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ของอาการป่วยด้วยโรคมือปากเท้าเปื่อย แม้ในขณะนั้นจะดูว่าผื่นและแผลในปากหายแล้วก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

แม้โรคมือปากเท้าเปื่อยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้โดยรักษาความสะอาด หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลางหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *