ทำความรู้จัก Gigantism “ภาวะยักษ์”

0

Gigantism

หรือ “ภาวะยักษ์” ผู้ป่วยจะมีอาการตัวสูงใหญ่กว่าคนปกติ แต่สัดส่วนของร่างกาย เท่าเดิมทุกอย่าง โดยมากมักจะเกิดตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าเกิดโรคนี้ในผู้ใหญ่ที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย จึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า จนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ

ข้อมูลจาก นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า

“ภาวะยักษ์” มีสาเหตุจากวัยเด็กได้รับ Growth Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยสร้างการเจริญเติบโตมากเกินไป ซึ่งเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนดังกล่าวทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายใหญ่โต โดยผู้ป่วยในส่วนมากจะมีความสูงเกิน 2 เมตร

ถ้าเกิดโรคเกิดในวัยเด็กหรือวัยรุ่น เป็นวัยที่กระดูกยังมีการเจริญเติบโตอยู่ จะส่งผลให้กระดูกและกล้ามเนื้อเจริญเกินปกติ ผู้ป่วยจึงไม่หยุดสูง จะสูงได้มากๆ และตัวใหญ่

gigantism

โรคนี้ในเด็กจะพบการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายที่เกิดได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ได้เร็ว และได้รับการรักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเกิดโรคนี้ในผู้ใหญ่ที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว สภาพร่างกายผู้ป่วยจะค่อยๆ เปลี่ยนไปช้าๆ ไม่สูง หรือไม่ใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า จนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกยาว กว้าง หนา โดยเฉพาะ กะโหลก และกราม กระดูกเปราะกว่าปกติส่งผลให้กระดูกหักง่าย มีปุ่มกระดูกงอกตามข้อต่างๆ ส่งผลให้ ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ปวดข้อ นิ้วมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ใหญ่ ห่าง จากการหนาตัวของเนื้อเยื่อรอบๆ นิ้ว และโรคกระดูกพรุน

ผิวหนังจะหนา แข็ง กว่าปกติ ผิวหยาบ แห้ง แต่ต่อมเหงื่อโตกว่าปกติจึงมีเหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อมัดโตแต่กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าปกติ ลิ้นใหญ่ผิดปกติ ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ มักเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือดหนาผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

ก้อนเนื้องอกที่ศีรษะโตจะส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และก้อนอาจโตจนกดประสาทตา ส่งผลให้การเห็นภาพผิดปกติ มีฮอร์โมนเพศผิดปกติ ส่งผลต่อรูปร่างของอวัยวะเพศ ความรู้สึกทางเพศ การเจริญพันธุ์ และประจำเดือนผิดปกติ โรคนี้จะมีผลต่อต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ส่งผลให้การทำงานของต่อมเหล่านี้ผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานลดลง

ฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพราะหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เร็วก่อนจะเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ป่วยมักมีอายุได้ยืนยาวเช่นเดียวกับคนทั่วไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *