“โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก เรียกว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งอันตราย ในส่วนของสุภาพสตรีนั้น นอกเหนือจากมะเร็งทั่วไป ยังต้องให้ความสำคัญกับมะเร็งทางนรีเวช โดยเฉพาะชนิดที่เป็นกันมากอย่าง มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม
3 มะเร็งทางนรีเวชที่มักเกิดกับหญิงไทย
1.มะเร็งรังไข่
เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบมากเป็นอันดับที่ 7 ของมะเร็งสตรีทั่วโลก ผู้ป่วยมีได้ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี โดยส่วนใหญ่อายุ 50-60 ปี สำหรับสัญญาณเตือนที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่ ท้องอืดเป็นประจำ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องเรื้อรัง มักมีอาการท้องโตกว่าปกติและคลำพบก้อน มีก้อนในท้องน้อยหรือปวดแน่นท้อง ซึ่งก้อนเนื้อนั้นอาจจะไปกดกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ส่วนปลายจนทำให้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก
ตามด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในระยะท้ายๆ ของโรคอาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้งและภาวะขาดอาหารร่วมด้วย ฉะนั้นสตรีที่มีอายุ 30-35 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กสุขภาพและตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์
2.มะเร็งปากมดลูก
มีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้เฉลี่ยประมาณวันละ 10 คน โดยระยะก่อนมะเร็ง หรือระยะเริ่มต้นของโรคนี้ จะไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ ยกเว้นถ้าเป็นโรคมะเร็งมากพอสมควร อาจมีอาการ อาทิ มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ, มีระดูขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ถ้ากระจายไปยังอวัยวะอื่น อาจมีอาการปวด ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดได้ ซึ่งวิธีที่จะทราบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกได้คือการตรวจภายใน
3.มะเร็งเต้านม
เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่พบว่าผู้มีความเสี่ยง ได้แก่ มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ยิ่งญาติสายตรงความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้น, สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อยกว่า 12 ปี หรือประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี, การใช้ยาฮอร์โมนทดแทนสำหรับวัยทองติดต่อกันเป็นเวลานาน, ภาวะอ้วน, การสูบบุหรี่ และการกินอาหารที่มีไขมันสูง ฉะนั้นการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงและการตรวจคลำเต้านมตรวจด้วยตัวเองจึงควรกระทำ
ฉะนั้น คุณผู้หญิงควรใส่ใจกับการตรวจหามะเร็งอย่างจริงจังด้วยการตรวจภายใน ตรวจคลำเต้านม และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะยิ่งพบเร็วเท่าไร ยิ่งลดความรุนแรงของโรคลงได้มากเท่านั้นค่ะ