“ลมพิษเรื้อรัง” โรคร้ายที่ทำให้ไม่สบายกายแถมยังชวนหงุดหงิดใจ

0

เนื่องในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 นี้ เป็นวันโรคลมพิษโลก

เราจึงอยากพาคุณไปทำความรู้จัก “โรคลมพิษเรื้อรัง” ให้มากขึ้น เชื่อว่าหลายคนได้ยินชื่อโรคลมพิษเรื้อรังแล้วอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้วโรคนี้เป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช พบผู้ป่วยโรคลมพิษประมาณร้อยละ 2-3  ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคผิวหนังทีเดียว

โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria)

ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆหายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ยา ระบบฮอร์โมน หรือเกิดจากปัจจัยทางกายภาพ และชนิดไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นความแปรปรวนภายในร่างกายเอง

ThinkstockPhotos-530541289

โรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 20-40  ปี ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องจากกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเครียดสะสมและอาจละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

โรคลมพิษเรื้อรังนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งด้านบุคลิกภาพ การทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ทางเพศ การนอนหลับและยังก่อให้เกิดความเครียดอีกด้วย เนื่องจากผื่นและอาการคันที่อาจเป็นๆหายๆ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ทราบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน อาจมีภาวะความเครียดที่สูงขึ้นเพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยผื่นลมพิษสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  1. งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
  2. นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอ เพื่อให้ใช้ได้ทันทีหากมีอาการ
  3. ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด
  4. ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา
  5. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานหรือการขับขี่ ยานพาหนะ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาการให้การรักษาต่อไปตามความเหมาะสม
  6. อาจใช้ calamine lotion ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *