“ไขกระดูกบกพร่อง” สัญญาณเตือน ”มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน”

0

ยังคงเป็นเคสที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ ณ บัดนาว สำหรับการเจ็บป่วยของอดีตนางเอกคนดัง “นิ้ง กุลสตรี” ที่ต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนจากการป่วยด้วยโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” ที่เจ้าตัวเริ่มป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 ว่าแล้วเรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกัน

 

“ไขกระดูก” เป็นส่วนที่อยู่บริเวณแกนกลางของกระดูกชิ้นใหญ่ทั่วร่างกาย มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด ในภาวะปกติไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ ออกมาตลอดเวลา ทั้งนี้ หากไขกระดูกทำงานบกพร่อง ก็จะเกิดความผิดปกติได้ เช่น โรคไขกระดูกบกพร่อง เป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้

 

กลุ่มอาการไขกระดูกบกพร่อง (Myelodysplastic syndrome : MDS)  เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดออกมาได้ ส่วนใหญ่พบในคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และพบได้น้อยมากในคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ โลหิตจางทำให้มีอาการซีด เม็ดเลือดขาวทำให้ร่างกายภูมิคุ้มกันลดลง เกร็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย

 

1

 

อาการไขกระดูกบกพร่อง ส่วนหนึ่งเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อีกส่วนหนึ่งเกิดหลังจากผู้ป่วยเคยได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีมาก่อนในอดีต หรือได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น เบนซีน อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรคไขกระดูกบกพร่องนี้ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม จึงไม่ติดต่อสู่คนในครอบครัว การดำเนินโรคกรณีที่โรคเป็นไม่รุนแรง จะมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ได้เกิน 6 ปี

 

สำหรับอาการของโรคไขกระดูกบกพร่องนี้มักเริ่มจากสร้างเม็ดเลือดตั้งแต่ 1-3 ชนิดได้น้อยลงจนมีอาการโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำและเกร็ดเลือดต่ำ หลังจากนั้นประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีการพัฒนาของโรคกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ซึ่งเป็นชนิดรุนแรง มีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ประมาน 5 เดือน

 

ในส่วนของการรักษาในกรณีที่โรคเป็นไม่รุนแรงและไม่ได้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขวาเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะให้การรักษาโดยให้เลือด เกร็ดเลือด และยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดงขึ้น กับชนิดของเม็ดเลือดผู้ป่วยที่ต่ำ ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง

 

แต่ในกรณีที่โรคเป็นรุนแรงหรือเริ่มกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน การรักษาคือการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งสามารถทำให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามจะสามารถทำได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ อาจให้ยากลุ่มเคมีบำบัดแบบฉีดบางชนิด ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้เม็ดเลือดกลับมาใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

 

ความที่โรคนี้ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ 100% จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง หากสงสัยหรือไม่แน่ใจควรรีบไปพบแพทย์ รวมถึงไปตรวจสุขภาพทุกปีเพื่อเช็กการทำงานของไขกระดูกและเซลล์เม็ดเลือด

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *