วิธีสังเกตอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ

0

“โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง”

หรือ ALS-Amyotrophic Lateral Sclerosis จัดเป็นโรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มโรคเสื่อมของเซลล์ควบคุมกล้ามเนื้อ ทั้งในส่วนของสมอง และไขสันหลัง ประเด็นคือผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าตัวเองป่วย ฉะนั้น การสังเกตอาการเพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตได้ยืนยาวขึ้น

als-amyotrophic-lateral-sclerosis

ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลีบเล็กลงเรื่อยๆ บริเวณมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนลามไปทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุก ต่อมาจะมีอาการพูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจติดขัด และหอบเหนื่อยจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

  • ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จะพบอาการเริ่มแรกที่แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งก่อน
  • ร้อยละ 25 ผู้ป่วยที่แสดงอาการครั้งแรกด้วยการกลืนหรือพูดลำบาก

ส่วนสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเกิดจากพันธุกรรม โรคดังกล่าวมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 40 – 60 ปี

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสังเกตอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน หรือ ขา หรือมีอาการกลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน ร่วมกับอาการกล้ามเนื้อลีบและกล้ามเนื้อเต้นกระตุก โดยอาการอ่อนแรงจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษา

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ส่วนยาในปัจจุบันที่มีช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้มีเพียงยา Riluzoleโดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งสารกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งซึ่งถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตายของเซลล์ นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมและทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรง เพื่อป้องกันการลีบที่เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนานๆ และป้องกันการติดของข้อ รวมถึงรับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว การให้กำลังใจผู้ป่วยไม่ให้เกิดการท้อแท้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนรอบข้างไม่ควรละเลย เพราะหากผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง ก็ย่อมส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสภาพร่างกายค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *