6 สัญญาณอันตราย “โรคไต” รู้ก่อน เสี่ยงน้อยกว่า!

0

ผลกระทบจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนไทย สร้างพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาวอย่างพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม จนเป็นบ่อเกิดของโรคภัยในที่สุด  โดยเฉพาะหนึ่งในโรคที่คุกคามสุขภาพคนไทยอันดับต้นๆ นั่นคือ “โรคไต” ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยยังต้องการความเข้าใจ และทักษะในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคนี้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

6-signs-of-kidney-disease

อมรินทร์ฯ ได้แนะนำหนังสือ โรคไตคู่มือป้องกันโรคไตและดูแลผุ้ป่วยโรคไต ฉบับสมบูรณ์  ผลงานเขียนโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ หัวหน้าทีมปลูกไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ อาจารย์ แพทย์หญิงปิยวรรณ กิตติสกุลนาม  อาจารย์โรคไต ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแนะนำความรู้ และทักษะในการปฏิบัติตนที่สามารถทำความเข้าใจและปฏิบัติตามได้จริง

%e0%b8%a8%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%a2%e0%b9%8c-%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%9e%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%a2%e0%b8%b4%e0%b9%88

โดยครั้งนี้ขอหยิบยก “6 สัญญาณอันตรายของโรคไต”  ในทางการแพทย์จะมีอาการสำคัญ 6 อย่างที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็นโรคไต มาบอกต่อกัน เพื่อให้ทุกคนได้สำรวจสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้

สัญญาณที่ 1  ปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะลำบาก

เป็นอาการที่ชี้ชัดว่ามีปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะและอาจเป็นโรคไตด้วยก็ได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก “อาการปัสสาวะแสบขัดที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ”   มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับผู้ชายถ้ามีอาการนี้อาจมีโรคนิ่วในไตหรือโรคต่อมลูกหมากโตซ่อนอยู่ก็ได้ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการนี้อาจมีอาการไข้และปวดเอวร่วมด้วย กลุ่มที่สอง “อาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งแรง ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน”   บางคนอาจปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะกลางคืนร่วมด้วย ซึ่งบ่งบอกว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ที่พบบ่อย ได้แก่ ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย หรือมดลูกหย่อนในเพศหญิง ถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษาปัสสาวะจะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบ่อย ๆ หรือเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะเรื้อรังจนทำให้ไตวายได้  ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจ

สัญญาณที่ 2 ปัสสาวะกลางคืนหรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

กระเพาะปัสสาวะของคนเราสามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้ประมาณ 250 ซีซี หรือเท่ากับน้ำ 1 แก้ว ในคนปกติระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน 6-8 ชั่วโมง มักจะไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ เพราะตอนกลางคืนไตจะดูดน้ำกลับมากขึ้นทำให้ผลิตปัสสาวะได้ลดลง  อีกทั้งตอนนอนเราไม่ได้ดื่มน้ำเพิ่มเข้าไป ดังนั้นจึงทำให้ไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร่างกายจะไม่สามารถดูดน้ำกลับคืนเข้าร่างกายได้ดีเท่ากับคนที่ไตปกติ   ดังนั้นตอนกลางคืนจึงยังมีปัสสาวะออกมาก ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ  โดยในคนปกติหากดื่มน้ำก่อนนอนอาจตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนได้บ้าง 1-2 ครั้ง แต่ถ้าปัสสาวะตอนกลางคืนมากกว่า 2 ครั้งถือว่าผิดปกติ

สัญญาณที่ 3 ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นผิดปกติ

ปกติปัสสาวะจะมีสีเหลืองใส อาจมีสีเข้มขึ้นเมื่อดื่มน้ำน้อยและจะจางลงเมื่อดื่มน้ำมาก ๆ  ถ้ามีปัสสาวะสีแดงคล้ายเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อบ่งบอกว่าอาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  มีนิ่ว  ไตอักเสบหรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ

อาการปัสสาวะเป็นเลือดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มปัสสาวะเป็นเลือดที่มีอาการปวดบริเวณหัวหน่าว ท้องน้อย หรือมีอาการแสบขัดเวลาปัสสาวะ มักเกิดจากมีนิ่วหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • กลุ่มปัสสาวะเป็นเลือดที่ไม่มีอาการปวด   มักเกิดจากไตอักเสบ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ หรือโรคเลือดที่ทำให้มีเลือดออกง่าย ซึ่งมักจะพบว่ามีเลือดออกตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย

สัญญาณที่ 4 รอบตาบวม หน้าบวม เท้าบวม

อาการรอบตาบวม หน้าบวม อาจสังเกตได้ง่ายเวลาตื่นนอน ส่วนเท้าบวมอาจพบเมื่อเข้าช่วงบ่าย หรือเมื่อทำกิจกรรมในท่ายืนนาน ๆ สังเกตได้จากแหวน หรือรองเท้าที่ใส่อยู่จะคับขึ้น หรือเมื่อใช้นิ้วมือกดที่หน้าแข้งค้างไว้ 5-10 วินาทีจะมีรอยบุ๋มเกิดขึ้น

อาการบวมจากโรคไตส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ โรคไตเรื้อรังชนิดไม่มีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ  โรคกลุ่มนี้ไตไม่สามารถขับเกลือและน้ำได้ทำให้มีการคั่งของน้ำในร่างกายจนเกิดอาการบวมกดบุ๋ม หากบวมมาก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการหอบจากหัวใจวายด้วย โรคไตเรื้อรังที่มีการรั่วของไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ มักจะมีอาการบวมรอบตาในตอนเช้าและบวมบริเวณรอบ ๆ เท้าในตอนสาย

สัญญาณที่ 5 ปวดหลัง ปวดเอว

มักมีสาเหตุมาจากมีนิ่วอยู่ในไต หรือในท่อไต อาการปวดเป็นผลมาจากการอุดตันในท่อไตหรือไตเป็นถุงน้ำ เมื่อพองออกจะทำให้มีอาการปวด ลักษณะการปวดมักจะปวดที่บั้นเอวหรือชายโครงด้านหลังและมักปวดร้าวไปที่ท้องน้อย ขาอ่อน หรืออวัยวะเพศ โดยอาการปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งผิดปกติที่มักพบร่วมด้วยคือ ปัสสาวะที่ออกมาจะเป็นเหมือนสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นขาว อาจมีปัสสาวะกะปริดกะปรอย หรือมีอาการปวดหัวหน่าวร่วมด้วย

ข้อสังเกตที่สำคัญหากเป็นโรคไตคือ ถ้ามีอาการปวดโดยเฉพาะที่หลังหรือเอวโดยไม่ร้าวไปที่ใด อาจจะเกิดจากไตอักเสบก็เป็นได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวแพทย์จะตรวจด้วยการเคาะหลังเบา ๆ ถ้าปวดมากจนสะดุ้งแสดงว่าอาจมีอาการไตอักเสบ

สัญญาณที่ 6 ความดันโลหิตสูง

โดยเฉพาะในรายที่มีความดันโลหิตสูงมานานและควบคุมไม่ได้ โรคไตที่แพทย์มักนึกถึงคือ โรคไตเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแดงไตตีบ ความดันโลหิตสูงหมายถึงมีค่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดในขณะพักพบว่าค่าความดันโลหิตสูงทุกครั้ง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องกันนาน ๆ ก็สามารถทำให้ไตผิดปกติและเกิดโรคไตเรื้อรังได้

สัญญาณอันตรายที่กล่าวมานี้ แม้เกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการให้รู้แน่ชัดว่ามาจากสาเหตุหรือโรคใด เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างทันท่วงที

พบกับวิธีรับมือกับโรคไตเพื่อตัวเอง และคนในครอบครัวที่เรารัก ได้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ในหนังสือ โรคไตคู่มือป้องกันโรคไตและดูแลผุ้ป่วยโรคไต ฉบับสมบูรณ์  วางจำหน่ายแล้ววันนี้ที่ร้านนายอินทร์ และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ราคาเล่มละ 275 บาท หรือสั่งซื้อผ่าน www.amarinbooks.com

COVER-brain-training

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *