รู้จัก 3 โรคตาที่พบมากในผู้สูงวัย

0

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงในวัยของผู้สูงอายุที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ความเสื่อมของระบบต่างๆ อาการเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในส่วนของโรคนั้น เราขอโฟกัสกันที่โรคตา ผู้สูงอายุส่วนมากมักมีสายตาไม่ดี มองเห็นไม่ชัดเจน สายตาเลือนรางหรืออาจตาบอด และนี่คือโรคตา 3 อันดับแรกที่พบมากในผู้สูงวัยบ้านเรา

Smiling mature woman peeking over sunglasses

1. ต้อกระจก

เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่นทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงคืออายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วม เช่น การได้รับแสง UV บ่อยๆ หรือแสงแดดจ้า โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยากินและหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

ผู้ป่วยต้อกระจกจะมีตามัวลง เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้อาจเริ่มจากต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ ต่อมามัวลงมากปรับแว่นอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง บางคนอาจมองเห็นแสงกระจายในที่สว่างจ้า

สามารถชะลอความเสื่อมได้บ้างด้วยการสวมแว่นกันแดดป้องกันรังสี UV


 

2. ต้อหิน

เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว เกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ พันธุกรรม เชื้อชาติ อายุ ภาวะสายตาสั้นมากๆ โรคเบาหวานการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน

ช่วงแรกของโรคมักไม่มีอาการ ต่อมาจะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือ การมองเห็นจำกัดวงแคบลงเรื่อยๆ กระทั่งสูญเสียการมองเห็นถาวร

ผู้ป่วยต้อหินต้องมาพบแพทย์อย่างสมํ่าเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันโรคควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงต้อหินเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หรือทางที่ดีควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี


 

3.จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม

เกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้เป็นปกติ ปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะสูงวัย แสงUV การสูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง

ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด


 

ฉะนั้นผู้สูงอายุควรตรวจตาเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อสังเกตพบความผิดปกติต้องรีบมาพบจักษุแพทย์ และควรหาวิธีถนอมดวงตา เช่น สวมแว่นกันแดด งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาและมีสารต้านอนุมูลอิสระ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *