ฤดูฝนนี้ ระวังป่วยโรคเมลิออยโดสิส อันตรายถึงตาย

0

ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และอาจมีน้ำท่วมขัง การทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น ทำการเกษตร การประมง ทำให้ต้องลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน รวมถึงควรระวังเรื่องการดื่มน้ำไม่สะอาด เพราะเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของโรคเมลิออยโดสิส

 

3

 

สถานการณ์ของโรคเมลิออยโดสิส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 1,016 ราย อัตราป่วย 1.53    ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ มากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3.98) รองลงมาคือ ภาคเหนือ (0.48) ภาคใต้ (0.26) และภาคกลาง (0.25) ส่วนในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 2,945 ราย อัตราป่วย 4.43 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 13 ราย อัตราตาย 0.02 ต่อประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังพบผู้ป่วยสูงสุดเช่นกัน (2,385 รายหรือ อัตราป่วย 11.06 ต่อประชากรแสนคน)

 

โรคเมลิออยโดสิส สามารถพบได้ในช่วงฤดูฝน โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ

  1. ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง
  2. หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
  3. ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

 

ในส่วนของระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือโรคติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ คล้ายป่วยเป็นไข้ บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค อาการสำคัญคือ ติดเชื้อในกระแสเลือดทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง

 

วิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่

  1. ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่
  2. หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
  3. รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาด
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน

 

ย้ำอีกครั้ง ผู้ติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิสจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ ดังนั้น การตรวจในห้องปฏิบัติการโดยวิธีการเพาะเชื้อจึงมีความสำคัญมาก หากมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าติดเชื้อ จึงควรรีบไปพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *