
เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการของเด็กน้อยวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและส่งเสริม หนึ่งในพัฒนาการด้านที่สำคัญอย่างมากสำหรับเบบี๋ คือ “กล้ามเนื้อมัดใหญ่” และนี่คือข้อมูลที่เหล่าผู้เลี้ยงเด็กไม่ควรพลาด เพื่อให้รู้จักและเข้าใจวิธีการส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้ลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา รวมไปถึงความสัมพันธ์กันของอวัยวะต่าง ๆ กล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้น เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของระบบการเรียนรู้ทั้งหมด หากพื้นฐานทางร่างกายไม่แข็งแรง ก็ยากที่ระบบการเรียนรู้ของร่างกายในส่วนต่าง ๆ จะทำงานได้เต็มที่ โดยพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการทรงตัว การเคลื่อนไหว และการเคลื่อนที่ เช่น การชันคอ การผงกศีรษะ การคว่ำ การหงาย การนั่ง การยืน การเดิน
ข้อมูลจาก คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 0 – 3 ปี จะพัฒนาเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกัน เช่น จะชันคอ (1-3 เดือน) ได้ก่อนพลิกคว่ำ/หงาย (4-5 เดือน) นั่งได้ (5-7 เดือน) ก่อนที่จะคลานและเกาะยืน (7-9 เดือน) เกาะเดิน (10 เดือน) ก่อนที่จะยืนเอง (12 เดือน) เดินได้เอง (12-15 เดือน) ก่อนวิ่ง (18 เดือน) เกาะราวขึ้นบันไดหรือเตะบอล (19-21 เดือน) ก่อนเดินลงบันไดพร้อมเกาะราวหรือขว้างลูกบอล (2 ปี)
ซึ่งจะเห็นได้ว่า กล้ามเนื้อมัดใหญ่จะพัฒนาจากส่วนหัวไปสู่ส่วนขา ในขณะที่เด็กปกติบางรายอาจข้ามพัฒนาการบางขั้นตอนไปได้ เช่น หลังจากที่ลูกนั่งได้ ลูกอาจไม่คลาน แต่จะเริ่มคุกเข่า แล้วเกาะยืนได้เลย เป็นต้น
พ่อแม่ที่ช่วยเหลือลูกมากจนเกินไป เช่น ไม่ค่อยให้ลูกนอนคว่ำเมื่อตื่นนอน อุ้มตลอดเวลา หรือไม่ให้โอกาสลูกในการเคลื่อนไหวอย่างเพียงพอ อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวล่าช้าได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเคลื่อนไหว และใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของตนเองตามวัย และหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกใช้รถหัดเดิน เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยลูกให้เดินได้ด้วยตัวเอง แต่กลับยิ่งทำให้มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้าได้ ลูกมักเดินด้วยปลายเท้า เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้าหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น อายุ 5 เดือน แล้วยังคอไม่แข็ง หรือมีพัฒนาการไวเกินไป เช่น พลิกคว่ำ/หงายได้ก่อนอายุ 3 เดือน หรือมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อย เช่น รู้สึกว่าลูกตัวอ่อน หรือ มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ตัวเกร็ง อุ้ม จัดท่าได้ยาก เวลาจับยืนแล้วปลายเท้าชอบจิกพื้น มีการถนัดของการใช้แขนขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนอายุ 18 เดือน
หากพบว่าเบบี๋มีพัฒนาการล่าช้าไม่เหมาะสมตามวัย ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจสายเกินแก้