สมาชิกแต่ละวัยในบ้าน ควรขยับร่างมากน้อยแค่ไหนนะ?

0

จากการสำรวจสถานการณ์กิจกรรมทางกายของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ แต่กลับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน

คำถามคือแต่ละช่วงวัย “กิจกรรมทางกาย” มากน้อยแค่ไหน?

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า

แต่ละกลุ่มวัยจะมีระดับและระยะเวลาในการทำกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันไป โดยหลักการคือ ประชาชนทั่วไปควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์

ซึ่งในส่วนของคู่มือการมีกิจกรรมทางกายของแต่ละกลุ่มวัย โดยกรมอนามัย มีข้อแนะนำสรุปความได้ ดังนี้

each-member-in-the-house-how-much-should-exercise

  1. กลุ่มเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายผ่านการเล่นที่หลากหลาย ทั้งระดับเบา ปานกลาง และหนัก ให้ได้ 180 นาทีต่อวัน เน้นการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น คลาน ยืน เดิน วิ่ง กระโดด ขว้าง เตะ ปีน เป็นต้น จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม ภาษา และสุขภาพที่แข็งแรง
  1. วัยเรียนและวัยรุ่น อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน เล่นเกม เล่นกีฬา เดินเปลี่ยนอาคารเรียน ส่วนแบบหนัก เช่น วิ่งเร็ว กระโดดสูง ว่ายน้ำเร็ว ยกของหนัก การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ หรือวิ่งเล่นอิสระอย่างวิ่งผลัด วิ่งไล่จับ
  1. วัยผู้ใหญ่ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว ทำสวน ปั่นจักรยาน ยกของเบา ทำความสะอาดบ้าน หรือระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 15 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น วิ่งเร็ว ว่ายน้ำ ขุดดิน เดินขึ้นบันได เล่นกีฬา
  1. ผู้สูงอายุ ควรประเมินสุขภาพร่างกายและโรคประจำตัวก่อน ส่วนกิจกรรมทางกายที่ควรมีคือ ระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์เช่นกัน โดยอาจใช้การเดิน ทำงานบ้านงานสวน ปั่นจักรยานไปตลาด ว่ายน้ำ ลีลาศ รำมวยจีน เล่นกับหลาน หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำเร็ว ขุดดิน เล่นกีฬา
  1. สตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด กิจกรรมทางกายระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนัก 75 นาทีต่อสัปดาห์ โดยช่วงไตรมาสแรกให้ระวังในผู้ที่ไม่เคยมีกิจกรรมทางกายมาก่อน ควรเริ่มจากเบาไปหนัก ช้าไปเร็ว และไม่ควรออกแบบหักโหม เนื่องจากตัวอ่อนอยู่ระหว่างการฝังตัวที่มดลูก และไตรมาสที่ 3 ให้ระวังเรื่องการล้ม เพราะท้องอาจกระแทกพื้น และไม่ออกกำลังแบบหักโหม หรือมีแรงกระแทกสูง

ทั้งนี้ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *