สงสัยกันมั้ย? เบบี๋รู้สึกอย่างไรเมื่อแรกเกิด

0

เคยสงสัยไหมคะว่า  เมื่อลูกเกิดมาในวัยทารกแรกเกิด ลูกสามารถรับรู้และมีพัฒนาการต่างๆ อย่างไรบ้าง  แล้วรู้หรือไม่ว่า  ถึงแม้จะเป็นแค่เบบี๋แบเบาะแต่ลูกก็มีพัฒนาการทางสังคมเหมือนผู้ใหญ่แล้วนะคะ

ช่วงแรกเกิดของทารกจึงเป็นช่วงสำคัญ    เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกต้องปรับตัวอย่างมาก จากการที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากภายในครรภ์มารดาสู่ภายนอกครรภ์มารดา ต้องปรับตัวทุกเรื่องทั้งด้านการปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ได้รับความอบอุ่น การหายใจ การขับถ่าย การดูดกลืนและการย่อยอาหาร

เรามาดูกันค่ะว่าในช่วงแรกเกิดถึงสองสัปดาห์แรกลูกมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง 

first born

พัฒนาการทางกาย

ทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย 3,000 กรัม ลำตัวยาวประมาณ 45-50 เซนติเมตร น้ำหนักและความยาวของลำตัวทารกเพศชายจะมากกว่าทารกเพศหญิงเล็กน้อย

ระยะนี้เป็นช่วงของการปรับตัว น้ำหนักของทารกจะลดลงเล็กน้อย แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อทารกเริ่มปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ สัดส่วนร่างกายของทารกยังไม่ดีนัก การเคลื่อนไหวจะมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) เช่น การจาม การดูด หรือการหาวนอน เป็นต้น ระยะแรกทารกไม่อาจควบคุมกล้ามเนื้อได้ สายตาทำงานไม่ประสานกัน การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างไร้จุดหมาย ไม่สามารถจับจ้องสิ่งใดได้จนกว่าจะมีอายุ 7 วัน ต่อมน้ำตายังไม่ทำงานในระยะแรก เวลาทารกร้องไห้จึงยังไม่มีน้ำตาออกมา

การได้ยินเสียงจะเกิดขึ้นก่อนการมองเห็นสีต่าง ๆ การลิ้มรส ทารกจะตอบสนองต่อรสหวานในทางบวก และตอบสนองรสเค็ม ขม เปรี้ยวในทางลบ ระยะเวลาส่วนใหญ่ของทารกจะใช้ในการนอนหลับถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตื่นเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน สายสะดือที่ตัดไว้จะค่อย ๆ แห้งและหลุดออกไปเองภายใน 7-10 วัน

พัฒนาการทางอารมณ์

ระยะแรกคลอดทารกจะมีอารมณ์ตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว จากนั้นจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ดังนี้

–  อารมณ์พอใจ แจ่มใส ดีใจ จะเกิดเมื่อทารกถูกสัมผัสตัวเบา ๆ เมื่อได้รับความอบอุ่นด้วยการกอดเมื่อได้ดูดนม หรือได้รับการเห่ไกว เป็นต้น
อารมณ์ไม่พอใจ จะเกิดขึ้นเมื่อทารกถูกจับไม่ให้เคลื่อนไหว ถูกเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว ไม่ได้รับการอุ้มชู ได้ยินเสียงดังทันที หรือเมื่อมีความเจ็บป่วย เป็นต้น

–  อารมณ์ทั้งสองลักษณะของทารกจะเกิดขึ้นสลับกันไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเลี้ยงดูที่ได้รับ หากได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม จะช่วยให้ทารกมีความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่น มีอารมณ์แจ่มใส และมองโลกในแง่ดีต่อไป

 

พัฒนาการทางสังคม

การสื่อสารของทารกวัยนี้คือการร้องไห้ ระดับเสียงและรูปแบบการร้องไห้จะบ่งบอกถึงความรู้สึกและความต้องการของทารก เช่นเสียงร้องไห้ที่ดัง และหยุดเป็นระยะ สม่ำเสมอ หรือร้องไห้จ้า หมายถึง หิวหรือไม่สุขสบาย

ถ้ามีการขยับตัวขณะร้องไห้ หมายถึงร้องเพราะไม่สุขสบายจากการเปียกปัสสาวะ เสียงร้องไห้ที่แผดแหลมหมายถึงการไม่ได้รับการตอบสนอง เสียงร้องครวญครางสลับกับแผดแหลมหมายถึงความเจ็บปวด เช่น ปวดท้อง อ่อนเปลี้ย เป็นต้น

ลักษณะที่สำคัญของทารกวัยนี้คือความไวต่อความรู้สึก ด้วยการกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น เมื่อได้รับสัมผัสทางร่างกาย หรือได้ยินเสียงทารกจะเงียบและฟังอย่างสนใจ ระยะนี้การให้การสัมผัสที่อบอุ่นอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน มีความเข้าใจ เห็นใจ และเข้าร่วมกลุ่มกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

 

พัฒนาการทางสติปัญญา

วัยนี้ทารกจะสามารถรับรู้และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นได้ สามารถแยกลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันได้ ชอบฟังเสียงที่นุ่มนวล ไพเราะ เช่น เมื่อได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงเห่กล่อม ทารกจะเงียบฟังและพักหลับได้

นอกจากนี้ทารกสามารถมองตามของเล่นที่มีสีสดใส เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว ในระยะ 8 นิ้วที่อยู่กลางลานสายตาได้
แม้ว่าลูกน้อยแรกเกิดจะต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถช่วยเหลือหรือตอบสนองความต้องการของตนเองได้ในทุกเรื่อง ไม่สามารถสื่อสารได้โดยตรง แต่หากลูกวัยในวัยนี้ได้รับการตอบสนองความต้องการทุกด้านอย่างเหมาะสมจากผู้เลี้ยงดู  ก็จะช่วยให้ทารกเกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง มั่นใจในความปลอดภัย และไว้วางใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมในวัยต่อไปค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *