ดื่มน้ำอย่างไร? ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

0

“น้ำ” เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย ในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักถึง 2 ใน 3 ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตร ขณะที่ร่างกายจะได้น้ำมาทนแทนจากการรับประทานอาหาร และการดื่มน้ำ ดังนั้น หากดื่มน้ำมากหรือน้อยเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ คำถามคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการดื่มน้ำ

9

 

เคล็ดลับการดื่มน้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด

  1. ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ซึ่งคำนวณได้โดยใช้สูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มิลลิลิตร) เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มิลลิตร อย่างไรก็ตาม นอกจากน้ำหนักตัวที่เป็นตัวแปรหลักแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น การออกกำลังกาย สภาพอากาศ รวมไปถึงอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อว่ามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากน้อยเพียงใด หากดื่มน้ำน้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการจะส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่ดี และอาจเกิดลิ่มเลือด เลือดข้น ร่างกายขับของเสียได้ลำบาก

 

  1. ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป คือเกินวันละ 10 ลิตร เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่มากเกินไปในเวลารวดเร็ว จัดเป็นภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ ก่อให้เกิดอาการบวมน้ำและร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียม รวมถึงเลือดจะมีความจืดจางมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ จะเริ่มมีการบวมน้ำเกิดขึ้น ปัญหาคือ ถ้าสมองบวมน้ำก็ทำให้เกิดภาวะชักและหยุดหายใจได้

 

  1. ควรดื่มน้ำหลังจากตื่นนอนตอนเช้าประมาณ 1 แก้ว เพราะเป็นช่วงที่มีความเข้มข้นของเลือดสูง เลือดจะมีลักษณะขาดน้ำ จากนั้นตอนสาย ๆ ประมาณ 9-10 โมงเช้า ควรดื่มน้ำอีก 2 แก้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่มีของเสียเกิดขึ้นเพราะร่างกายได้ทำงานไประยะหนึ่งแล้ว จึงควรดื่มน้ำเพื่อชำระของเสียเหล่านั้น จากนั้นช่วงบ่ายโมง-บ่ายสองควรดื่มน้ำอีกประมาณ 2-3 แก้ว และช่วงเย็นประมาณ 1-2 ทุ่ม ควรดื่มน้ำอีกประมาณ 2-3 แก้ว และก่อนนอนควรดื่มน้ำอีก 1 แก้ว เพื่อให้น้ำที่ดื่มไหลเวียนชะล้างสิ่งตกค้างในลำไส้และกระเพาะอาหาร

 

  1. ควรดื่มน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรดื่มน้ำที่ร้อนมากหรือเย็นจัด เนื่องจากขณะที่ดื่มน้ำเข้าไป ร่างกายของเราจะใช้เวลาในการปรับอุณหภูมิให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายเพื่อที่จะดูดซึมเอาไปใช้ได้ดี ฉะนั้น การดื่มน้ำเย็น ๆ ในขณะที่อากาศร้อนมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำได้แค่บางส่วนและน้ำก็จะออกไปทางระบบทางเดินอาหารและทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียน้ำ และเกิดปากแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะเหลืองขึ้นได้ แต่ในบางกรณีอุณภูมิของน้ำก็ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ตอนเช้าควรดื่มน้ำอุ่นเพราะจะช่วยในการขับถ่ายให้ดียิ่งขึ้น ลำไส้ก็จะสะอาดมากขึ้นตามไปด้วย

 

  1. ควรค่อย ๆ จิบทีละนิดใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที และทำให้ชินจนกลายเป็นนิสัย ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ ในคราวเดียว การดื่มน้ำปริมาณมาก 3-4 ลิตรอย่างรวดเร็วในคราวเดียว อาจทำให้มีภาวะความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดผิดปกติจนเป็นอันตรายได้ และอาจทำให้เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้อเกร็งได้

 

ทั้งนี้ ในช่วงหน้าร้อนไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทกาแฟ ชา หรือแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงน้ำออกไปจากร่างกาย ทำให้ปัสสาวะบ่อย เรียกว่ายิ่งดื่มมากยิ่งทำให้สูญเสียน้ำในร่างกายมากตามไปด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *