“นอนไม่หลับ” ไม่ใช่โรค แต่ส่งผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจ

0

แม้จะไม่ใช่โรคแต่หากใครประสบกับปัญหา “นอนไม่หลับ” เชื่อว่าอาการนี้ย่อมสร้างความทุกข์ทรมานให้ไม่แพ้โรคหลายๆโรคส่วนใหญ่มักจะมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทานอยู่ประจำ และพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องแก้ไขตามสาเหตุ

“การนอนหลับ”

เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะเป็นช่วงที่สมองและร่างกายบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ใช้ไปให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงาน การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ฟื้นสภาพรู้สึกสดชื่นแจ่มใส เป็นผลดีต่ออารมณ์ความรู้สึกในวันถัดไป

โดยทั่วไปคนเราใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนอาจนอนมากน้อยแตกต่างกัน ในกลุ่มของผู้สูงอายุต้องการนอนวันละ 7 – 8 ชั่วโมงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเช่นกัน

แต่ที่ผ่านมายังมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการนอนหลับน้อยกว่าคนวัยอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดโดยทุกคนมีโอกาสเกิดปัญหานอนไม่หลับในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้

sleeplessness-is-not-a-disease-but-it-affects-the-body-and-mind

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ในประเทศไทยพบประชาชนไทยประสบปัญหานอนไม่หลับในช่วงกลางคืนหรือหลับไม่เพียงพอร้อยละ 30 – 40 และมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังร้อยละ 10 ส่วนในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากเซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการนอนหลับเสื่อมสภาพและมีจำนวนลดลง

กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการสำรวจขนาดปัญหาในระดับชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2556 พบว่า…

ประสบปัญหาการนอนหลับในช่วงกลางคืนร้อยละ 22 หรือพบได้ 1 คน ในผู้สูงอายุทุกๆ 5 คน อาการที่พบมีทั้งเกิดเดี่ยวๆ ได้แก่ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ กลางดึก ตื่นเช้ากว่าปกติ ง่วงระหว่างวัน และเกิดควบคู่กัน 2 อาการขึ้นไป เช่น หลับยากร่วมกับหลับๆ ตื่นๆ กลางดึก ผู้หญิงจะนอนไม่หลับสูงกว่าผู้ชาย

ผลกระทบจากการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ จะเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดความเครียด อารมณ์หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเรียน การตัดสินใจแย่ลง ในผู้สูงอายุอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่ายขึ้น หากเกิดในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจทำให้มีอาการรุนแรง ความจำสับสน หลงวันหลงเวลามากขึ้น จึงเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม

หากมีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้การรักษาตรงกับต้นเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ควบคู่กับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการนอน ถ้าปล่อยให้เป็นมาก การรักษาจะยากขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *