“งูสวัด” คืออะไร อันตรายถึงชีวิตจริงหรือ??

0

โรคงูสวัด (Herpes zoster) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส ดังนั้น ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสจึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทุกคน โดยเชื้อไวรัสซอสเตอร์สามารถติดต่อผ่านทางการหายใจ และสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง ซึ่งเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสซอสเตอร์จะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายนานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เชื้อที่แฝงอยู่จะเพิ่มจำนวนและกระจายตามแนวเส้นประสาททำให้เกิดเป็นผื่นคัน แล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทกลายเป็นโรคงูสวัดนั่นเอง

อาการของโรคงูสวัดจะเริ่มจากอาการปวดแสบร้อนบริเวณชายโครง แขน อาการปวดอาจทำให้คิดว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรนหรือโรคทางสมองได้ ข้อนี้ต้องระวัง!

หลังจากนั้น 2-3 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท มักเกิดบริเวณชายโครง ใบหน้า แขน ตามปกติผื่นอาจจะหายเองได้ภายในสองสัปดาห์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วอาจจะยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งอาจจะปวดได้อีก 3-12 เดือน ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

herpes-zoster

โรคงูสวัดมักไม่มีอันตรายร้ายแรง  และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่  แต่บางรายหลังแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดประสาทนานเป็นแรมปี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

ดังนั้น จากความเชื่อที่ว่า เป็นรอบเอวแล้วตาย นั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะที่เสียชีวิตอาจเป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค การรู้จักรักษาร่างกายให้แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานโรคให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคและระงับความรุนแรงของโรค

การป้องกันโรคงูสวัดทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส-งูสวัด ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ซึ่งฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ถ้าฉีดตอนอายุมากกว่า 13 ปี ควรฉีด 2 เข็ม  ห่างกัน 4-8 สัปดาห์งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อย

ซึ่งจะพบมากขึ้นตามอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี ในเด็กและทารกพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง ในส่วนของผู้สูงอายุที่โรคจะแพร่กระจายและรุนแรงมากกว่า ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส แต่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ในผู้ป่วยบางรายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *