“ปอดอุดกั้นเรื้อรัง” รักษาช้า เสี่ยงหัวใจล้มเหลว

0

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

เป็นโรคที่เกิดจากหลอดลมมีการเปลี่ยนแปลง หรือในเนื้อปอดมีการอักเสบ ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบลงหรือตันไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ หากผู้ป่วยปล่อยปละละเลย ไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรค จะส่งส่งผลให้หัวใจซีกขวาต้องทำงานหนัก จนนำไปสู่ภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลวได้ค่ะ

ข้อมูลจาก นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า…

ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ หอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด โดยระยะแรกอาจยังไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่อเนื้อปอดถูกทำลายมากขึ้น อาการดังกล่าว จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ การสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากมาย เมื่อปอดสัมผัสกับควันบุหรี่ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในปอด สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การสูดดมมลภาวะอากาศที่เป็นพิษ

chronic-obstructive-pulmonary-disease

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยทั่วไปมักพบ 2 โรคอยู่ร่วมกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรัง อาการเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 3 เดือน ติดต่อกันประมาณ 2 ปี หรือมากกว่านั้น โดยไม่มีสาเหตุอื่น และโรคถุงลมโป่งพอง มีการทำลายผนังถุงลม และส่วนปลายสุดของหลอดลม จะมีการขยายตัวโป่งพอง ทำให้การถ่ายเทอากาศผิดปกติ หากพบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค! 

ด้าน พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้ให้คำแนะนำว่า

ผู้ป่วยควรหยุดสูบบุหรี่ ดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รู้จักควบคุมอารมณ์ เพราะความเครียดอาจทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ต้องดูแลบ้านให้สะอาดปราศจากฝุ่น ละออง และควัน สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และที่สำคัญต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด และใช้ยาที่แพทย์แนะนำ

ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เหนื่อยมากกว่าเดิม เสมหะมากขึ้นหรือเปลี่ยนสี เสมหะมีเลือดปนหรือไอเป็นเลือด มีไข้ เจ็บหน้าอก ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนนัดทันที เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว และปลอดภัยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *