ความคาดหวังอันดับแรกของพ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อรู้ว่ามีเบบี๋ในท้องคงหนีไม่พ้น การปรารถนาให้เจ้าตัวเล็กคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง “การเจาะน้ำคร่ำ” นับเป็นตัวเลือกสำคัญในการหาความผิดปกติของโครโมโซมทารกก่อนคลอด เพื่อให้ว่าที่พ่อแม่มือใหม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
วิธีการตรวจ “เจาะน้ำคร่ำ”
การเจาะน้ำคร่ำจะกระทำโดยสูติแพทย์ที่ชำนาญและภายใต้สภาพปราศจากเชื้อ ในขั้นแรกแพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ ดูท่าของทารก ตำแหน่งที่รกเกาะ และเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจาะที่ปลอดภัยสำหรับมารดาและทารก ต่อจากนั้นแพทย์จะทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณหน้าท้องแล้วใช้เข็มแทงผ่านผนังหน้าท้อง และผนังมดลูกจนถึงแอ่งน้ำคร่ำที่เลือกไว้ ซึ่งขณะเจาะจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับเวลาเจาะเลือด
ทั้งนี้ แพทย์จะดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 4 ช้อนชา (20 ซีซี) คิดเป็นเพียง 5% ของปริมาณน้ำคร่ำที่มีอยู่ น้ำคร่ำที่ดูดออกมาจะส่งไปเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจะนำมาศึกษารูปร่างและจำนวนของโครโมโซม โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 สัปดาห์ ผลที่ได้มีความแม่นยำสูงถึง 99% อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเซลล์มีความซับซ้อน จึงมีโอกาสที่จะล้มเหลวได้บ้าง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำการเจาะตรวจซ้ำ
การปฏิบัติตัวก่อน “เจาะน้ำคร่ำ”
- ปรึกษากับสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ ประโยชน์ที่จะได้รับ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
- หากจำเป็นต้องเลื่อนนัดการตรวจ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบล่วงหน้า
- ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร แต่ควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ
การปฏิบัติตัวหลัง “เจาะน้ำคร่ำ”
- นั่งพัก 30-60 นาที หลังเจาะน้ำคร่ำ ถ้าไม่มีอาการผิดปกติแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
- ห้ามอาบน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเจาะน้ำคร่ำ
- ถ้าปวดแผลบริเวณที่เจาะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้อง เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หรือเดินทางไกลในช่วง 2-3 วันแรก
- งดมีเพศสัมพันธ์ 1 สัปดาห์
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดิน มีไข้ หรือปวดท้องมาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ หากผลตรวจพบความผิดปกติของทารก แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่คุณแม่ท้องและสามี โดยแนวทางการรักษารวมถึงทางเลือกในการดูแลตั้งครรภ์ต่อไปขึ้นกับอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่ท้องและสามีเป็นสำคัญ