ทริคการกินเพื่อป้องกันและแก้ไขเมื่อแม่ท้องน้ำหนักเกิน

0

การดูแลภาวะโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะผลของภาวะโภชนาการที่ไม่ดีนี้ ส่งผลกระทบระยะยาวทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตด้วย หนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับภาวะโภชนาการในหญิงท้องที่ต้องเร่งป้องกันและแก้ไขก็คือ ปัญหาคุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักเกิน!

eating-to-prevent-and-correct-when-pregnants-fat

ทริคการกินเพื่อป้องกันและแก้ไขเมื่อแม่ท้องน้ำหนักเกิน สรุปความจาก คู่มือการให้คำแนะนำด้านโภชนาการและการออกกำลังกายสำหรับคลินิกฝากครรภ์ยุคใหม่ โดย สสส. มีดังนี้

ควบคุมปริมาณอาหาร

ควบคุมปริมาณอาหารให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของมารดาและการเจริญเติบโตของทารก โดยไม่ควรบริโภคอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ

อย่าอดอาหารมื้อหลัก

หรือลดปริมาณอาหารมากเกินไป เนื่องจากทารกในครรภ์กำลังเจริญเติบโต การลดปริมาณอาหารมากเกินไปจะทำให้การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ช้าลง

ลดปริมาณ

หากบริโภคมากกว่าที่แนะนำให้ลดปริมาณอาหรที่ให้พลังงาน หรือลดปริมาณให้น้อยลงกว่าที่แนะนำเล็กน้อย ได้แก่ อาหารประเภทข้าว-แป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น และอาหารไขมัน เช่น น้ำมัน กะทิ ควรหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ผัด แกงกะทิหรือขนมที่ใส่กะทิให้เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารโดยการต้ม นึ่ง ปิ้ง ยำ แทน

คาร์โบไฮเดรต

อาหารกลุ่มข้าว-แป้ง ควรเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ธัญพืช หรือข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ข้าวโพด

กินผัก ผลไม้

กินผัก ผลไม้รสไม่หวานจัดให้เพิ่มขึ้นและหลากหลาย เพื่อให้ได้ใยอาหารในการลดการดูดซึมน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอลในร่างกาย

แหล่งแคลเซียม

กินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะนม แต่ควรเปลี่ยนจากนมจืด (มีพลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีไขมัน 8 กรัม) เป็นนมพร่องมันเนย (มีพลังงาน 92 กิโลแคลอรี มีไขมัน 3.2 กรัม) หรือนมขาดมันเนย (มีพลังงาน 72 กิโลแคลอรี มีไขมัน 0.6 กรัม)

เนื้อสัตว์

หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น หมูสามชั้น หมูติดมัน คอหมู หนังไก่ หนังเป็ด

ขนม

งดกินขนม-เครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เช่น ลูกอม ช็อคโกแลต เยลลี น้ำหวาน น้ำอัดลม งดกินจุบจิบ เช่น ขนมกรุบกรอบ เพราะให้พลังงานสูง โซเดียมสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน การดูแลด้านโภชนาการจึงควรเริ่มตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ เพื่อกำหนดสุขภาพในอนาคตของลูกน้อยให้ไปในทิศทางที่ดี และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *