“ไข้เลือดออก” ภัยสุขภาพที่คุณแม่ท้องต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี

0

ฤดูฝนเป็นช่วงที่มักมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งถือเป็นโรคอันตรายที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงหาวิธีป้องกัน เพราะในผู้ป่วยบางรายโรคนี้อาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ก็จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงของโรคสูง โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งตัวคุณแม่เองรวมถึงเบบี๋ในท้อง

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) การแพร่กระจายของไวรัสเดงกีอาศัยยุงลายบ้าน และยุงลายสวน เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยยุงลายเพศเมียดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในระยะที่มีไวรัสในกระแสเลือด (Viremia) โดยทั่วไประยะนี้จะอยู่ในช่วง 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ เมื่อยุงลายได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้ระยะเวลาฟักตัว ประมาณ 8 – 12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้ และเมื่ออีกคนได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้เวลาประมาณ 3 – 14 วัน ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้

อาการของโรคไข้เลือดออก

แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว ระยะแรกจะมีไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นแดง เนื่องจากโรคนี้ทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง จึงทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล รายที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่อาการวิกฤต ช่วงที่ไข้ลง จะยังมีอาการอาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบาก มีอาการช็อค ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้ ส่วนระยะฟื้นตัว คนไข้จะเริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหาร อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นไข้เลือดออก

-ไตรมาสแรก (12 สัปดาห์แรก) ถ้าเป็นไข้เลือดออกช่วงนี้ จะทำให้ลูกในครรภ์แท้งได้

-ไตรมาสสอง (12-28 สัปดาห์) ถ้าเป็นไข้เลือดออกช่วงนี้ จะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ลูกที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อย แต่ลูกจะปลอดภัย เพราะเชื้อไวรัสยังเข้าไม่ถึงลูก แต่ถ้าแม่ท้องเป็นไข้เลือดออกในระยะวิกฤต ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์

-ไตรมาสสาม (29-40 สัปดาห์) ถ้าแม้ท้องเป็นไข้เลือดออกในระยะแรก ลูกจะติดโรคไข้เลือดออกผ่านทางสายสะดือ

การป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก

1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่กำลังมีไข้เลือดออกระบาด

2. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่เที่ยวที่มีแหล่งน้ำขัง เช่น น้ำตก เขื่อน แอ่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากมียุงชุม

3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน เช่น กำจัดแหล่งน้ำขัง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย

4. ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด, อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด, นอนในมุ้ง, ทายากันยุง

5. รับวัคซีนสำหรับป้องกันไข้เลือดออก

6. หมั่นสังเกตอาการของตัวเอง หากมีไข้ขึ้นสูงเกิน 38 องศา ไข้ไม่ลงใน 3-4 วัน ปวดเบ้าตา ปวดกระดูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนอาการจะรุนแรงจนอันตรายถึงชีวิต

ทั้งนี้ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด นอกจากลดความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิก้า (ZIKA) ซึ่งมีผลเสียร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *