ในระหว่างตั้งครรภ์ว่าที่คุณแม่มือใหม่จะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สำคัญคือ เต้านม ซึ่งการที่หัวนม รวมถึงเต้านมขยายใหญ่ขึ้นเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมทารกที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลกนั่นเอง
3 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับกายวิภาคของเต้านม
1. หัวนมปกติจะยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร และจะยาวเพิ่มขึ้นได้ราว 2 มิลลิเมตรในระหว่างการตั้งครรภ์จนถึงช่วงใกล้คลอด ส่วนลานนมจะเป็นบริเวณสีคล้ำรอบ ๆ หัวนม บริเวณลานนมจะมีต่อมไขมัน ที่สร้างไขช่วยปกป้องผิวหัวนมและลานนมให้ชุ่มชื้นและมีอิมมูโนโกลบุลินเอ ที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรคบริเวณหัวนมและลานนมขณะให้นมลูก นอกจากนี้ ต่อมไขมันยังสร้างกลิ่นที่จะช่วยให้ทารกค้นหาและเจอนมแม่ได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ต่อมไขมันนี้จะเจริญเติบโตมากขึ้น
2. ภายในของเต้านมประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่สานกันหลวม ๆ เรียกว่า เส้นเอ็นคูเปอร์ เป็นโครงที่ช่วยให้เต้านมคงรูป โดยมีเนื้อเยื่อไขมันมาเกาะโดยรอบ ซึ่งเป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่บ่งบอกขนาดเต้านม และกลุ่มเนื้อเยื่อสำคัญ ได้แก่ เนื้อเยื่อสร้างน้ำนม โดยปริมาณน้ำนมไม่ได้ขึ้นกับขนาดของเต้านมและเต้านมของมารดาแต่ละคนจะเหมาะสมที่สุดสำหรับบุตรของตน
3. เนื้อเยื่อส่วนสร้างน้ำนมจะมีส่วนของเซลล์ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงเล็ก ๆ ที่สร้างน้ำนมเรียกว่า ต่อมน้ำนม รอบ ๆ แต่ละต่อมน้ำนมจะมีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่จะบีบขับนำนมไปที่ท่อน้ำนม และมีเครือข่ายของเส้นเลือดที่จะนำสารอาหารมาช่วยในการสร้างน้ำนมของเซลล์ จากต่อมน้ำนมจะมีท่อนมฝอยต่อเชื่อมออกมารวมกันเป็นท่อที่ใหญ่ขึ้นและรวมกันเข้าสู่ท่อที่ส่งสู่หัวนม การส่งท่อน้ำนมจากท่อน้ำนมไปที่หัวนม ทารกจะต้องออกแรงกดบริเวณลานนมเพื่อไล่น้ำนมในท่อน้ำนมออกมา และในเต้านมยังมีเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณจากเต้านมไปที่สมองเพื่อช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมด้วย
สรีรวิทยาของการสร้างและการหลั่งน้ำนม เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์สองระยะ ได้แก่
1. ระยะสร้างต่อมน้ำนม (mammogenesis) จะเริ่มเมื่อตั้งครรภ์ โดยจะมีการสร้างเซลล์สร้างน้ำนมที่มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันพร้อมกับมีการแตกแขนงของท่อน้ำนมออกมากขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม เต้านมขยาย ตึงคัดและเจ็บ หัวนมคล้ำขึ้น
2. ระยะสร้างน้ำนม (lactogenesis) จะเริ่มในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย ๆ ดังนี้
– ระยะการสร้างนำนมระยะที่ 1 จะเริ่มที่อายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ระยะนี้เต้านมจะมีความพร้อมในการสร้างน้ำนมโดยเซลล์สร้างน้ำนมจะมีการสะสมสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างน้ำนม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการตั้งครรภ์จะไม่มีการหลั่งน้ำนมเนื่องจากมารดาจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจนที่สร้างจากรกสูงคอยยับยั้งการหลั่งน้ำนม ในช่วงนี้เต้านมจะมีการขยายขนาดและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
– ระยะการสร้างน้ำนมระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วงหลังคลอด 3-7 วัน เมื่อ มีการคลอดรก ระดับของฮอรโมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะลดลงในทันที ในขณะที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงและมีปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) พอเหมาะที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม ในช่วงนี้จะมีการเพิ่มของเลือด ออกซิเจน และน้ำตาลมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น ร่วมกับในเต้านมเริ่มมีการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา มารดาจึงอาจเกิดอาการคัดคัดเต้านม ปวด ไม่สบายตัว และอาจมีไข้อ่อน ๆ ได้ ระยะนี้จะมีการสร้างหัวน้ำนม (colostrums) ซึ่งเป็นน้ำนมที่มีปริมาณน้อยแต่มีภูมิคุ้มกันสูง ปริมาณภูมิคุ้มกันจะมีปริมาณสูงในช่วงแรกหลังคลอดและลดความเข้มข้นลงเมื่อปริมาณน้ำนมสูงขึ้น
– ระยะการสร้างน้ำนมระยะที่ 3 จะเริ่มประมาณ 7 วันหลังคลอด ระยะนี้ปริมาณน้ำนมจะมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้น โดยการดูดนมวันละ 8-12 ครั้ง และการระบายนมจนเกลี้ยงเต้าจะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการสร้างน้ำนม การมีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านมจากการให้นมห่างหรือปริมาณการระบายนมแต่ละครั้งน้อยจะทำให้มีการสร้างน้ำนมน้อยลง การให้นมที่น้อยกว่า 6 ครั้งใน 24 ชั่วโมงหรือให้น้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวันจะทำให้ระดับโปรแลคตินลดต่ำลงและมีผลต่อการสร้างน้ำนมได้เช่นเดียวกันกับการไม่มีการระบายน้ำนมออกเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงจะทำให้ความดันของน้ำนมในท่อน้ำนมสูงขึ้น สารที่ยับยั้งการสร้างน้ำนมสะสมมากขึ้น ทำให้การผลิตน้ำนมลดลง
การมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่สามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นได้