หญิงตั้งครรภ์ป้องกันยังไงดี ถ้าติดโควิด-19 เสี่ยงอาการรุนแรง

0

ยังคงเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่น่าเป็นห่วง สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเรา ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์นั้น แม้รายงานจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษ ระบุว่า ผู้หญิงไม่ได้ติดเชื้อง่ายขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ แต่หากติดโควิด-19 ก็เสี่ยงมีอาการรุนแรงได้

 

2

 

ข้อมูลการสำรวจของกรมอนามัยล่าสุด (28 เมษายน 2564) พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 77 ราย ไม่มีอาการ 43 ราย มีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ 21 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 ติดเชื้อในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยข้อมูลการใช้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์พบยังมีไม่มาก แต่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป

 

รวมวิธีการป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์

  1. การนัดหมายตรวจครรภ์ กรณีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 โดยไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่น ๆ สามารถโทรติดต่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกไปตามความเหมาะสม
  2. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป และในรายที่เป็นกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูงหรือมีโรคร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต และภูมิต้านทานผิดปกติ ควรไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง โดยมีการนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด
  3. หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ แนะนำให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 1 คน
  4. สวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน
  5. พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวเพื่อล้างมือให้สะอาดเมื่อจำเป็น
  6. ระหว่างนั่งรอตรวจหรือรับยา ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
  7. เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี ล้างมือ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

 

หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับวัคซีน และควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ก่อนตัดสินใจ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับวัคซีนก่อนนั้น มีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ได้แก่ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่ทำงานในลักษณะที่ต้องสัมผัสกับคนหมู่มาก บุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง รวมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงเมื่อติดเชื้อ เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์

 

สำหรับช่วงเวลาที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคือช่วงหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อ    ที่ตายแล้ว ในขณะที่แอสตราเซเนกา เป็น viral vector vaccine มีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มาก และมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก สำหรับหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

 

ทั้งนี้ คุณแม่ท้องต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการดังกล่าว ให้โทรประสานกับหน่วยบริการที่ฝากครรภ์เพื่อส่งต่อโรงพยาบาลต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *