ทักษะการพูดคุยเพื่อสร้างอีคิวที่ดีให้ลูก

0

การพูดคุยกับลูกเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ การบ่มเพาะสิ่งดีงาม และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหาสังคมหรือปัญหาทางจิตใจต่าง ๆ แก่ลูก พ่อแม่ควรหาเวลาพูดคุยกับลูก อย่างน้อย 10-15 นาทีต่อวัน คำถาม คือ การพูดคุยเพื่อสร้างอีคิวให้ลูก มีหลักการอย่างไร?

การพูดคุยเพื่อสร้างอีคิวให้ลูก มีหลักการดังนี้

1. ใช้เวลาพูดคุยในสิ่งที่สำคัญมากกว่าการถามแต่เรื่องการบ้าน เร่งให้กินข้าวหรือเข้านอน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ

– ควรถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีอะไรที่ทำให้ลูกมีความสุข มีอะไรที่ทำให้ลูกทุกข์ใจ

– ถามถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ

– เล่าเรื่องของพ่อแม่เอง บอกความรู้สึกนึกคิดของพ่อแม่ สิ่งใหม่ ๆ ที่พ่อแม่พบ สิ่งที่พ่อแม่เรียนรู้มาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งค่านิยม จริยธรรมที่พ่อแม่ยึดถือ

2. วิธีการพูดคุยควรเป็นการรับฟังและแลกเปลี่ยนเรื่องราว ควรรู้สึก และความเห็นซึ่งกันและกั

– อย่าตัดสินว่าสิ่งที่ลูกเล่านั้นดีหรือไม่ดี ใช้ได้ หรือไม่ได้ ควรฟังลูกก่อนแล้วค่อยแสดงความเห็นของพ่อแม่ โดยไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่ลูกพูดนั้นถูกหรือผิด

– อย่าคอยแต่จะสอนลูก หรือบอกว่าลูกทำอะไรผิดบ้าง ลูกจะไม่กล้าเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง หากพ่อแม่ต้องการสอนเมื่อลูกทำผิด ก็ควรหาเวลาเฉพาะสำหรับเรื่องนั้น และบอกลูกอย่างจริงจังว่าที่ลูกทำไปนั้นไม่ถูกต้อง

– หากพ่อแม่ต้องการสอนลูกในขณะที่คุยกัน ก็ควรสอนอย่างแนบเนียน การเทศนาแบบตรง ๆ หรือสอนแบบบ่นไปด้วยมักไม่ช่วยให้เด็กเรียนรู้เท่าไรนัก ลูกจะหลบเลี่ยง ไม่อยากคุยด้วย เพราะรู้สึกว่าการคุยกันกลายเป็นสิ่งที่ไม่สนุก ควรระลึกไว้ว่าการคุยกับลูกไม่ได้ทำเพื่อที่จะสอนลูก แต่พูดคุยเพื่อที่จะรู้จักกัน และมีการเปิดเผยตนเองต่อกันมากขึ้น โดยพ่อแม่อาจสอดแทรกคำสอนดี ๆ ไว้ในการสนทนา ซึ่งเด็กจะเรียนรู้จากคำสอนที่สอดแทรกไว้ได้ดีกว่าเรียนรู้จากคำเทศนาบ่นว่าตรง ๆ

3. สร้างบรรยากาศที่ดี

– ไม่ควรคุยขณะที่มีเสียงดังรบกวน เช่น ลูกคนเล็กกำลังร้องไห้จ้าอยู่ หรือในขณะที่เสียงโทรทัศน์ดัง

– มีกาลเทศะในการพูดคุย เช่น หากลูกต้องการพูดคุยขณะที่พ่อแม่ดูโทรทัศน์อยู่ หากเป็นเรื่องสำคัญ ควรปิดโทรทัศน์เสียก่อน แล้วจึงพูดคุยกับลูก แต่หากเป็นเรื่องไม่สำคัญนัก ก็ให้ลูกรอสักครู่ เมื่อพ่อแม่ดูโทรทัศน์เสร็จจึงค่อยพูดคุยกัน

สิ่งสำคัญในการพูดคุยกับลูก คือ การรับฟังลูกด้วยความสนใจ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นสำคัญและพ่อแม่สนใจเขา ขณะที่ลูกอยากคุยแล้วพ่อแม่ก็ก้มหน้าก้มตาสไลด์จอมือถือหรือตาจ้องดูแต่ที่จอโทรทัศน์ ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจเขา และจะไม่เล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีกต่อไป การรับฟังที่ดี คือ การที่พ่อแม่หยุดพูด และใช้คำถามกระตุ้นให้ลูกพูด พึงระวังการขัดจังหวะระหว่างที่ลูกพูด รวมถึงฟังโดยให้ความสนใจทั้งคำพูดและสังเกตสีหน้าท่าทางขณะที่ลูกพูด

การตั้งคำถามอย่างเหมาะสมจะทำให้การสนทนาดำเนินไปได้ดี คำถามที่ดีจะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจเขา และเขาจะเปิดเผยตนเองมากขึ้น พ่อแม่ควรลองฝึกการตั้งคำถามลูก โดยพยายามถามอย่างสนอกสนใจ ถามโดยไม่ตัดสินผิดถูก แนะนำให้เลือกคำถามแบบเปิด เนื่องจากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ ไม่ถูกบังคับ เช่น แล้วลูกทำอย่างไร? ลูกคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? ลูกอยากให้มันเป็นอย่างไร? ลูกชอบ/ ไม่ชอบตรงไหน?

และนี่คือเคล็ดลับที่จะทำให้พ่อแม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่จะเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรและคิดอย่างไร อะไรทำให้รู้สึกอย่างนั้น ลูกมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ทำให้ทราบว่าจะเสริมสร้างลูกอย่างไรให้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *