ทำความเข้าใจ “มะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก”

0

“โรคมะเร็งในเด็ก”

เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เมื่อไม่นานนี้เพิ่งมีข่าวเกี่ยวกับ “โรคมะเร็งต่อมหมวกไต” ออกมาทำให้เหล่าพ่อแม่ที่มีลูกน้อยวัยซนเป็นกังวล เนื่องจากคุณแม่ท่านนั้นเชื่อว่าสาเหตุที่ลูกเป็นมะเร็งเพราะตนกินอาหารไม่ระวังตอนตั้งครรภ์

ข้อมูลจาก ผศ.พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปความได้ว่า

โรคมะเร็งต่อมหมวกไตเป็นโรคมะเร็งก้อนเนื้อในเด็กที่พบได้บ่อย โดยมีอุบัติการณ์ประมาณ 5.8% ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่พบในเด็ก พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี  อาการและอาการแสดงที่พบบ่อย คือ ก้อนในท้อง และต่อมน้ำเหลืองโต

malignant-adrenal-tumors-in-kids

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคในระยะที่ 4 คือ มีการกระจายของมะเร็งไปที่ตับ กระดูก และไขกระดูก ทำให้มีอาการตับโต ปวดกระดูก มีไข้  ซีด  จุดเลือดออกตามตัวหรือเลือดออกผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ เนื่องจากไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ตามปกติเพราะถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็ง บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงจากก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

การวินิจฉัยและจำแนกระยะของโรค

อาศัยการตรวจเลือด ตรวจไขกระดูก ตรวจระดับของสารที่สร้างจากเนื้องอกในเลือดหรือปัสสาวะ ถ่ายภาพทางรังสี เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้องเพื่อดูตำแหน่ง ลักษณะและขอบเขตของก้อน โดยจะพบก้อนที่ต่อมหมวกไตซึ่งอยู่ด้านบนของไต ถ่ายภาพสแกนกระดูก การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

การรักษาโรคมะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก

ต้องอาศัยการร่วมมือกันของบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายการรักษาหลักคือการให้ยาเคมีบำบัดและการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การฉายรังสีรักษาจะทำเฉพาะในรายที่มีก้อนมะเร็งเหลืออยู่หลังการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีการรักษาตามอาการของผู้ป่วยขณะนั้น เช่น การให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด การดูแลเรื่องของอาหารให้ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่

ควรให้ความสำคัญด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วยเพราะสภาพจิตใจจะส่งผลต่อการรักษาได้มาก พยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระยะของโรค ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา และการตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคไปอวัยวะอื่นแล้ว


ดังนั้น การร่วมมือกันดูแลผู้ป่วยของผู้ปกครองและแพทย์มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้ดีและเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *