ปัญหาสุขภาพตาลูกน้อยกับภัยเงียบจากสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต

0

สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้งยังนิยมใช้เป็นสื่อหนึ่งในการเพิ่มทักษะรวมถึงความบันเทิงต่าง ๆ ให้แก่เด็ก อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างไม่ระวัง อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะดวงตา เช่น ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว สายตาสั้นก่อนวัย

เด็ก เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญจากการที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตใช้งานไม่ยาก มีซอฟต์แวร์น่าใช้ดึงดูดการใช้งาน นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองยังนิยมใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสื่อในการเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็ก หรือเพื่อให้เด็กไม่รบกวนโดยอาจขาดความรู้เท่าถึงต่อโทษที่จะตามมาโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพตา โดยพบว่าเด็กมักใช้เวลาวันละประมาณ 7 ชั่วโมงไปกับสื่อเอนเตอร์เทน อีกด้านของสติปัญญาการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมพบว่าการใช้สื่อต่าง ๆ เป็นเวลานานส่งผลต่อความตั้งใจเรียนที่โรงเรียนลดลง พฤติกรรมการกินการนอนผิดไปและเกิดโรคอ้วนตามมา ปัญหาทางดวงตาที่พบจากการใช้สื่ออุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้งเคืองตา ตามัว และเสี่ยงสายตาสั้นก่อนเวลาอันควร 

นอกจากนี้ ยังมีแสงสีฟ้าที่เป็นแสงที่พบได้จากแสงแดด มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ แสงสีฟ้ามีความกระเจิงแสงทำให้เกิดความไม่สบายตาในการมองและมีผล ต่อการนอนหลับยากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า แสงสีฟ้าก่อโรคต่อดวงตาชัดเจน เพราะฉะนั้นแว่นตาตัดแสง สีฟ้าอาจจะมีประโยชน์ในแง่ช่วยให้มองภาพสบายตามากขึ้น มีคำถามว่าลูกน้อยควรใช้เวลาหน้าจอเท่าไหร่ต่อวัน จักษุแพทย์แนะว่าหากเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปีไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย ส่วนเด็กอายุ 1-2 ปีใช้เวลาหน้าจอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในช่วงอายุ 3-4 ปี ใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และในช่วงมากกว่า 5-13 ปีใช้เวลาหน้าจอไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

คำแนะนำในการดูแลลูกน้อยในขณะใช้หน้าจอ คือ

1. ควรพักสายตาเมื่อลูกน้อยใช้หน้าจอ โดยใช้หลัก 20-20-20 โดยพักจากหน้าจอทุก 20 นาที พักสายตาโดยมองวัตถุที่ไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต และพักเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที 

2. ปรับแสงสว่างให้เพียงพอ วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ห่างประมาณ 25 นิ้ว ปรับหน้าจอ ความเข้ม ความสว่างให้พอดี 

3. การใช้น้ำตาเทียม อาจมีประโยชน์สำหรับกรณีมีอาการตาแห้งร่วมด้วย

4. ควรพบจักษุแพทย์ หากลูกน้อยมีอาการกระพริบตาบ่อย มองภาพไม่ชัด มีตาเข ปวดศีรษะ

ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพกายที่ดี ลดความเสี่ยงสายตาสั้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาของสติปัญญา ทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม แนะนำให้เด็ก ๆ มีกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนเด็ก ๆ ออกจากหน้าจอ ควรเป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจ ทำแล้วสนุก มีความสุข และพ่อแม่สามารถมีส่วนร่วมกับลูกได้ เช่น กิจกรรมการเล่นต่าง ๆ ตามช่วงวัย งานประดิษฐ์ งานศิลปะ เล่นกีฬา โดยสมองเด็กมีพัฒนาการที่เร็วมากในช่วงอายุ 2-3 ขวบปีแรก จึงควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีกว่าจากหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ที่สำคัญพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก โดยการอยู่กับหน้าจอเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ หากเจ้าตัวซนมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เด็กอาจจะบ่นปวดตา หรือแสบตา ตาแดง กระพริบตาบ่อย หรือเอามือขยี้ตา ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย ก่อนอาการจะรุนแรงจนยากจะรักษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *