ฝึกทักษะชีวิตให้ “ลูก” ป้องกัน “ฆ่าตัวตาย” ในอนาคต

0

ปัญหาการทำร้ายตัวเองของเด็กและเยาวชนที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง นับเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสนใจ และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัจจัยที่นำไปสู่การทำร้ายตนเองว่า…

“เกิดจากภาวะอารมณ์ที่กดดัน มีเหตุจากตัวกระตุ้นหลายด้านที่อาจสั่งสม เช่น ปัญหาการเรียน ถูกเพื่อนรังแก เพื่อนไม่คบ ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว ถูกกดขี่ ถูกพ่อแม่ดุด่า หรือถูกทำโทษเสมอ ปัญหาเรื่องความรัก และปัญหาอื่น ๆ ประกอบกัน รวมทั้ง อาจมีภาวะซึมเศร้า หรืออาจเคยทำร้ายตัวเองมาก่อน”

ปัญหาการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มักมีสัญญาณบอกเหตุ สังเกตได้จากสัญญาณเตือนต่าง ๆ เช่น การพูดจาในลักษณะที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากตาย

skills-for-life-child-protective-suicide-in-the-futur-2

หรือสัญญาณเตือนทางอ้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังเจอกับปัญหา โดยมักจะเก็บตัว เซื่องซึม ในเด็กโตและวัยรุ่นอาจสังเกตได้จากการที่เด็กมีผลการเรียนเปลี่ยนแปลง มีการใช้สารเสพติด หรือดื่มสุรา เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน อารมณ์ไม่แจ่มใส มองโลกในแง่ลบ คิดเรื่องตายบ่อย ๆ หรือมีอารมณ์โมโหรุนแรงควบคุมตนเองไม่ได้

เมื่อพบอาการดังกล่าวครอบครัวอย่านิ่งนอนใจ ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายปัญหาให้ฟัง คอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นและรู้สึกได้ว่าไม่โดดเดี่ยว แต่หากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กได้แล้ว ควรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต หรือหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

การป้องกันปัญหาในระยะยาว คือต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่เด็ก ด้วยการฝึกทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะในการแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์

skills-for-life-child-protective-suicide-in-the-futur-1

หาทางออกที่เป็นไปได้ ไม่หนีปัญหา ลงมือแก้ไขจนสำเร็จ อดทน ต่อสู้กับชีวิต เอาชนะปัญหาและอุปสรรคได้ ซึ่งอาจฝึกทักษะผ่านการเล่นบทบาทสมมติ การเล่านิทาน หรือใช้ละคร หรือข่าว มาเป็นกรณีศึกษา โดยอาจใช้คำถามง่าย ๆ เช่น ถ้าเราเจอปัญหาเหมือนกับคนที่อยู่ในข่าวจะหาทางออกอย่างไร มีทางเลือกอื่นอีกไหม เป็นต้น

ที่กล่าวมานี้เป็นการช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการใช้เหตุและผล ตลอดจนขยายกรอบความคิดของลูกให้กว้างไกลกว่าเดิมได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เขาสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างชาญฉลาดค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *