8 วิธีรับมือเจ้าตัวเปี๊ยก หากต้องทำงานที่บ้าน

0

การเป็น  Working Mom ในเวลาเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหม แต่โชคดีแค่ไหนแล้วที่เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีการสื่อสารมากมายมาช่วยให้เราสามารถทำงานออนไลน์ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปหากเราอาจจะต้องมาทำงานที่บ้านบ้าง หรือคุณแม่บางท่านอาจทำงานที่บ้านไปพร้อมๆ กับการเป็นแม่บ้านไปด้วยก็มีให้เห็นมากมาย

แต่จุดยากสุดของการทำงานที่บ้านไม่ใช่ปัญหาเรื่องการสื่อสารเลย แต่อยู่ที่ความวุ่นวายและการต้องดูแลเจ้าตัวเปี๊ยกนี้ไปพร้อมๆ กันต่างหาก ลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้

workathome1

1.ตัดสิ่งรบกวน

คุณแม่ที่ทำงานที่บ้านจะต้องเจียดเวลาส่วนหนึ่งไปดูแลลูกและทำงานไปพร้อมกัน ดังนั้น เพื่อให้เวลาทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ให้คุณปิดคำแจ้งเตือนออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ เฟซบุ๊ก หรืออีเมล์ หรืออย่างน้อยก็เปลี่ยนไปใช้โหมดเงียบแทน ซึ่งจะไม่ทำให้คุณเกิดความไขว้เขวได้ขณะทำงาน แต่หากกรณีมีเรื่องเร่งด่วนแนะให้โน้ตบอกทุกคนไว้ว่าให้ติดต่อผ่านทางมือถือเท่านั้น กรณีมีเรื่องจำเป็น

2. เคารพเส้นแบ่งเวลา

การทำงานที่บ้านมันยากนักที่จะขีดเส้นออกจากกันให้ชัดเจน ดังนั้น บางครั้งคุณอาจจะเผลอที่จะทำงานทั้งวี่ทั้งวัน ซึ่งไม่ดีเลยกับครอบครัว ดังนั้น จงแบ่งเวลาให้ชัดเจน ว่าเวลาไหนคือช่วงเวลาทำงานและช่วงไหนที่คุณจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และเมื่อแบ่งแล้วก็ต้องเคารพและทำตามกติกาอย่างชัดเจนด้วย เพื่อความมีวินัย

3. ขอความช่วยเหลือ 

คุณไม่จำเป็นต้องคุณแม่สุดแสนเพอร์เฟ็ค หรือกลายร่างเป็น “ซุปเปอร์วูแมน” หรอก หากงานบ้านมันหนักเกินไป เอ่ยปากขอให้คนช่วยได้ อย่าเหมาทำทุกอย่างไปเสียคนเดียว บางทีพวกเขาอาจจะรอให้คุณบอกอยู่ก็ได้ ถือเสียเวลาเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แบ่งหน้าที่กันทำงานภายในบ้านร่วมกันไปเลย

ส่วนมื้อเย็นที่คุณกังวลน่ะเหรอ ให้คิดเสียว่าเป็นโบนัสกับการทำงานหนัก ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปทานอาหารนอกบ้าน หรือสั่งเดลิเวอรี่เลยเป็นไง เด็กๆ จะได้ตื่นเต้นกับอาหารใหม่ๆ ด้วย

4. หากิจกรรมให้ลูกนั่งข้างตัวเราได้

มันยากที่จะทำงานไปพร้อมกับการดูแลเด็กๆ เพราะพวกเขาต้องการอยู่กับคุณในทุกๆ นาที อย่างเด็กหนึ่งขวบไม่อาจจะทนนั่งเล่นคนเดียวได้นานถึง 15 นาที ลองหากิจกรรมที่เขาสามารถนั่งเล่นข้างๆ คุณได้ด้วยตัวเอง เช่น วาดภาพ ขีดเขียน หรือเล่นเปิดกล่องปิดกล่อง ซึ่งคุณยังสามารถหันหน้ามาหาเขาระหว่างทำงานได้ด้วย

สำหรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไป อาจจะคาดหวังให้เล่นได้ด้วยตัวเองนานขึ้น อาจจะส่งเสริมให้เล่น ต่อบล็อก หรือแต่งตัวตุ๊กตา ร้อยลูกปัด เป็นต้น ซึ่งของเล่นเหล่านี้พวกเขาสามารถสนุกได้ด้วยตัวเอง โดยยังนั่งอยู่ใกล้ๆ คุณ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าคุณได้ร่วมเล่นไปด้วยได้ แม้ว่าตอนนั้นคุณกำลังปั่นงานอย่างหนักหน่วงอยู่

workathome2

5. หากิจกรรมทำร่วมกัน

หลังจากทำงานแล้วก็ควรหาเวลาที่จะอยู่กับลูกอย่างเต็มที่ โดยการวางแผนที่จะทำอะไรสักอย่างร่วมกัน ให้คุณและเขาได้มีส่วนร่วมกันในหนึ่งวันอย่างเต็มที่ เพื่อชดเชยเวลาที่คุณทำงานไป หรือถ้าคุณต้องการเสริมศักยภาพด้านการเรียนของลูก เช่น การติวหนังสือ หรือทำการบ้าน ก็อาจจะใช้ช่วงเวลานี้อย่างเต็มที่เลยก็ได้

6. สอนกฎและกติกาง่ายๆ 

ไม่ใช่เรื่องน่าอายหากคุณกำลังสไกป์กับลูกค้า ในขณะที่เสียงกรีดร้องของลูกดังอยู่ที่ข้างหลัง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดหากเราได้ทำข้อตกลงกันเอาไว้ก่อน พูดคุยกับลูกทำสัญญากันว่าในขณะที่คุณกำลังคุยโทรศัพท์ หรือใส่เฮดโฟนอยู่ จะไม่มีการรบกวนใดๆ แต่หลังจากนั้นแล้วคุณต้องพร้อมเสมอที่จะรับฟังทุกเรื่องราวของเขา แม้มันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ให้เขาเห็นว่าเราเคารพและรักษากติกา เพื่อให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างและให้เขารักษากฎและกติกาเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสที่จะได้สอนภาษากายให้กับลูกด้วย เช่น ท่าให้ “หยุด” หรือ “คอยก่อน” เพื่อให้เขาเข้าใจว่าขณะนี้คุณกำลังไม่สะดวก อีกทั้งยังเป็นการสอนมารยาทของสังคมโดยทั่วไปให้เขาเข้าใจได้อีกด้วย

7. เลิกรู้สึกผิดหรือวิตกเกินไป

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะแนะนำคุณในการทำงานที่บ้านก็คือ เลิกรู้สึกผิดได้แล้ว เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ตามใจปรารถนา แม้ว่าเราจะเซ็ททุกอย่างไว้อย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม หลายอย่างก็อาจจะหลุดรอดไป มีผิดพลาดกันได้บ้าง ดังนั้น อย่ารู้สึกเครียดหรือเป็นกังวล อะไรก็เกิดขึ้นได้

8.ยืนหยุ่นเวลา 

หากคุณรู้สึกว่าเส้นแบ่งเวลางานและลูกมันไม่เวิร์ก และมันทำให้คุณไม่แฮปปี้ ลองยืดหยุ่นตารางเวลาดูบ้าง บางทีมันอาจจะช่วยให้อะไรๆ ผ่อนคลายขึ้นได้บ้าง แล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ก็จะพบจุดกึ่งกลางที่ลงตัว

ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอุปนิสัยของเด็กเป็นสำคัญด้วย ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กับครอบครัวของคุณที่บ้านดูว่าอะไรที่มันใช่แล้วเข้ากันได้ ทั้งหมดนี้ คุณต้องไม่ลืมสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความรักและความเข้าใจ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *