ดูแลให้กำลังใจ-ระวังอย่าให้ผู้ป่วยจิตเวชขาดยา

0

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย เรียกว่าเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัว ต้องช่วยกันดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตกันและกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีสมาชิกเป็นผู้ป่วยจิตเวช ต้องเพิ่มความใส่ใจมากยิ่งขึ้น

 

86

 

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มากขึ้น ทำให้ผู้ที่กำลังรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตหลายคนรู้สึกกังวลและไม่กล้าที่จะเดินทางมายังโรงพยาบาล อาจทำให้เกิดการขาดการรักษาและรับประทานยาต่อเนื่อง และในอนาคตอาจมีผู้ป่วยจิตเวชส่วนหนึ่งต้องเข้าเกณฑ์การแยกกักตัวเองที่บ้านเนื่องจากมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรค

 

ทั้งสองกลุ่มนี้หากต้องอยู่ที่บ้านระยะเวลายาวนานโดยมีโรคประจำตัวหรือรักษาโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรนับจำนวนและเตรียมยาให้เพียงพอ อย่าให้ขาดยา หากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นหรือกำลังอยู่ในระหว่างการแยกกักตนเองที่บ้าน พบว่ายาที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อช่วงระยะเวลาการแยกกักที่เหลือ สามารถให้ข้อมูลเรื่องอาการของตนเองกับญาติ และมอบหมายญาติให้มาพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยาจิตเวชแทนได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช

 

ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มากขึ้น อาจเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเครียดและรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น สมาชิกในครอบครัวและญาติควรเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับความกังวลใจ สถานการณ์การแพร่ระบาด และการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค

 

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ขอให้ผู้ดูแลรีบโทรแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ทำการรักษาด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยอยู่เดิม เพื่อประเมินความเสี่ยงและเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจิตเวช

 

ในส่วนของการดูแลสุขภาพเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำได้โดยการดูแลสุขอนามัย สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงไปในที่แออัด หาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

สำหรับการดูแลสุขภาพจิตของตนเองนั้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มากขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ยึดหลัก “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” พยายามควบคุมสติและอารมณ์ของตนเอง
  2. หาเวลาผ่อนคลายความเครียด อาทิ พักจากการทำงานมาดูทีวี ฟังเพลง ทำขนม
  3. ใช้เวลาพิจารณาจิตใจและความเครียดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
  4. พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงความรัก ความห่วงใยผ่านคำพูดแทนการสัมผัส

 

ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวควรใส่ใจกันและกัน หมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองและคนในบ้าน หากมีข้อสงสัย เกิดความเครียด ท้อแท้ หรือวิตกกังวลอย่างมาก แนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *