รวมอาการผิดปกติของทารกแรกเกิดและการแก้ไข

0

“ทารกแรกเกิด” คือ ทารกที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 28 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปรับตัวอย่างมาก จากสภาพแวดล้อมจากบรรยากาศที่อบอุ่นในครรภ์มารดา ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก จึงเป็นช่วงที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ พ่อแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติของเบบี๋ เพื่อแก้ไขก่อนสายเกินแก้นะคะ

ข้อมูลจากหนังสือคู่มือมารดาหลังคลอดหรือการดูแลทารก กรมอนามัย ระบุว่า การสังเกตอาการผิดปกติของทารกแรกเกิดและการแก้ไข มีดังนี้

include-neonatal-abnormalities-and-corrections

  1. “ไข้” ทารกจะมีอาการผิวหนังอุ่น/ร้อน ร้องกวน งอแง ไม่ควรห่อผ้าหนา ควรใส่เสื้อและกางเกงให้ลูก และเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น กระตุ้นให้ดูดนมมารดาทุก 2 ชั่วโมง ถ้าหากพบว่าทารกมีไข้สูง กระสับกระส่ายร่วมกับมีอาการซึม ไม่ยอมดูดนม ให้รีบนำมาพบแพทย์
  2. “อาการตัวเย็น” ทารกจะมีผิวหนังเย็น ซีดหรือคล้ำ ซึมไม่ดูดนม หายใจเร็ว ถ้าทารกตัวเย็นให้ห่อตัวด้วยผ้าหนาๆ ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม แล้วให้รีบนำมาพบแพทย์
  3. “อาการตัวเหลือง” เป็นลักษณะที่ผิวหนังทารกมีสีเหลือง ที่มักพบได้ใน 2-3 วันแรกหลังเกิด สังเกตจากการดูที่ตา และผิวหนัง ถ้าไม่เหลืองมากจะไม่มีอันตราย ถ้าพบว่าตัวเหลืองมาก มองเห็นได้ชัด และเด็กมีอาการซึมลง ไม่ค่อยดูดนม ให้รีบนำมาพบแพทย์จะได้รับการรักษาโดยการส่องไฟ เพื่อให้มีการขับสารตัวเหลืองออกมาทางอุจจาระและปัสสาวะ
  4. “การสำรอกหรืออาเจียน” การแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ เป็นภาวะปกติของทารกแรกเกิด เนื่องจากหูรูดของกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้หูปิดไม่สนิท แต่ถ้ามีอาการสำรอกและพบว่าปลายมือ ปลายเท้าเย็น ให้รีบนำมาพบแพทย์
  5. “อุจจาระ” ของทารกที่ดูดนมแม่จะมีลักษณะ ค่อนข้างเละๆ สีเหลือง เนื้อละเอียด หลังจากการถ่ายขี้เทาใน 2-3 วันแรก เด็กบางคนยิ่งดูดนมแม่บ่อยยิ่งถ่ายบ่อย ถ้าเด็กดูปกติไม่ซึม น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือร่างกายเจริญเติบโตดี ถือว่าเป็นสิ่งปกติ สำหรับทารกที่ได้รับนมผสม อุจจาระมักจะแข็ง และมีจำนวนมาก หลังการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ให้ทำความสะอาดก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ และเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้ง
  6. “เยื่อบุบตาอักเสบ” น้ำตาไหลหรือมีขี้ตามาก ให้นำลูกมาพบแพทย์
  7. “สะดืออักเสบ” บวม แดง หรือมีหนอง และมีกลิ่นเหม็น ให้นำลูกมาพบแพทย์
  8. “ผื่นแดง” หรือรอยถลอกตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณก้น ให้นำลูกมาพบแพทย์

ปิดท้ายด้วย “ภาวะสะอึก” อาจพบได้ในทารกปกติ วิธีแก้ไขหรือบรรเทาอาการดังกล่าวทำได้โดย หลังเบบี๋ดูดนมมารดา ให้อุ้มเรอในท่าปกติ หรืออาจลดปริมาณนมในแต่ละมื้อ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้นค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *