ทำอย่างไร? เมื่อลูกกินยาก-กินแต่นมอย่างเดียว

0

อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตด้านน้ำหนักและส่วนสูง รวมทั้งให้สารอาหารหลายชนิดที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา แต่ถ้าเบบี๋ได้รับอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดโรคขาดสารอาหารส่งผลให้การเติบโตหยุดชะงัก เจ็บป่วยง่าย และสติปัญญาบกพร่อง

ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความคาดหวังของพ่อแม่มักไม่สัมพันธ์กับความต้องการอาหารของลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะคาดหวังว่า ถ้าลูกกินได้ดี น้ำหนักขึ้นดี นั่นหมายถึงว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกประสบความสำเร็จ แต่ถ้าลูกไม่กินหรือกินได้น้อย เด็กก็มักจะถูกดุและบังคับให้กิน หรือติดสินบนให้กิน ทำให้ลูกเรียนรู้ว่า พฤติกรรมการกินของตนในแต่ละมื้ออาหารนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในครอบครัว และใช้ควบคุมพ่อแม่ได้

สาเหตุของการที่เด็กกินอาหารยากนั้น ถ้าหากไม่ได้มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยต่างๆ หรือความผิดปกติของการย่อย การดูดซึมอาหารที่ส่งผลให้เด็กไม่อยากอาหาร ก็อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น เด็กถูกบังคับให้กิน ทำให้ต่อต้านมากขึ้น หรือเด็กกําลังสนใจการเล่นและไม่อยากกินในขณะนั้น หรือบอกว่า ไม่หิว พ่อแม่ควรหาสาเหตุก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใด

เมื่อเด็กปฏิเสธอาหารในครั้งแรก พ่อแม่ควรใจเย็น อาจลองปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น อาจตกแต่งจานอาหารให้มีสีสันดูน่ากิน จัดที่นั่งกินอาหารให้ห่างจากสิ่งรบกวน (เช่น ไอแพด หรือของเล่น) ที่จะมาเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก ให้ลูกและพ่อแม่นั่งร่วมโต๊ะอาหารและกินอาหารไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยายกาศที่ดีและเด็กกินอาหารได้มากขึ้น

ถ้าลูกกําลังสนใจกับการเล่น พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกทำกิจวัตรให้เป็นเวลา เช่น หากใกล้ถึงเวลาอาหารแต่ลูกกําลังเล่นอยู่ ก็ ควรบอกเด็กอย่างน้อยล่วงหน้า 5-10 นาที ว่าใกล้จะต้องหยุด เล่นเพื่อกินอาหารแล้ว เพื่อให้เด็กได้เตรียมตนเอง เมื่อเด็กบอกว่า ยังไม่หิว อาจต้องพิจารณาว่าก่อนหน้านี้ เด็กได้กินขนมหรือเครื่องดื่มรสหวานหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นพ่อแม่ควรกำหนดตารางเวลาการกินอาหารของเด็กใหม่ และอนุญาตให้เด็กกินขนมหลังมื้ออาหารเท่านั้น

อีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับการกินของเบบี๋ที่พบบ่อย คือ เด็กกินแต่นมอย่างเดียว ไม่ค่อยยอมกินอาหารอื่น เนื่องจากพ่อแม่บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าให้ลูกกินนมมากๆ แล้วเด็กจะเติบโตแข็งแรงดี ข้อเท็จจริงคือ เมื่อทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ร่างกายมีความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในวัยนี้เริ่มมีฟันขึ้น รวมทั้งน้ำย่อยอาหารต่างๆ ทำงานดีขึ้น

ฉะนั้น พ่อแม่จึงควรให้อาหารอื่นเพิ่มเติมจากนมแม่ เพื่อฝึกให้ทารกรู้จักวิธีเคี้ยวและกลืนอาหาร การเคี้ยวจะทำให้เด็กสามารถทดสอบความสามารถของตนเองไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ในช่วงอายุ 6-8 เดือน เด็กควรได้อาหาร 2 มื้อ พ่อแม่สามารถกําหนดการให้อาหารในมื้อเช้าและมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น และปรับเปลี่ยนการให้นมแม่เป็นให้ในระหว่างมื้ออาหาร

ระยะแรกของการให้อาหารเสริมอาจมีอาหารเพียง 1-2 ชนิดเป็นส่วนประกอบก่อนเพื่อให้เด็กคุ้นเคย เมื่อเด็กกินได้มากขึ้นในสัปดาห์ถัดไป จึงค่อยให้ลองอาหารชนิดใหม่ ถ้าเด็กตัวผอมสามารถเติมน้ำมันพืชหรือเหยาะงาคั่วสุก ½ -1 ช้อนชา ในส่วนผสมอาหาร 1 มื้อ ก็จะช่วยเพิ่มความเข้มข้นของพลังงานในอาหาร เป็นการช่วยให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์

การที่ทารกและเด็กเล็กจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและมีสุขภาพแข็งแรง ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อย่าลืมดูแลและใส่ใจเรื่องการกินของทารก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *