7 อุบัติเหตุที่มักเกิดกับเบบี๋…พร้อมวิธีป้องกัน

0

“อุบัติเหตุ” เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดและเกิดขึ้นได้เสมอ ในส่วนของทารกนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากเด็กทารกเป็นวัยที่ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะดูแลเบบี๋ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น

 

72

 

 

7 อุบัติเหตุที่มักเกิดกับเบบี๋พร้อมวิธีป้องกัน

  1. การหายใจไม่ออก

สาเหตุ : เด็กวัยทารกใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอนหลับยาวนาน การให้เบบี๋นอนที่นอนอ่อนหนานุ่ม อาจทำให้เด็กนอนหลับหน้าและจมูกจมที่นอน จนทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้ เนื่องจากยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้

วิธีป้องกัน : ไม่ให้เด็กนอนที่นอนอ่อนหนานุ่ม ดูแลเด็กน้อยด้วยความระมัดระวังและหมั่นสังเกตเป็นระยะ ๆ

 

  1. การสำลัก

สาเหตุ : ขณะเด็กรับประทานอาหารเด็กจะต้องดูดและกลืน อาจเกิดการสำลักเข้าไปในหลอดลมทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากเศษอาหารไปปิดกั้นทางเดินหายใจ เด็กไม่สามารถหายใจนำอากาศเข้าและออกได้ ทำให้เสียชีวิต

วิธีป้องกัน : ปรับท่านอนการกินนมให้ถูกต้อง โดยควรเอียง 45 องศาเวลาดูดนม หลังการให้นม ควรอุ้มพาดบ่าเพื่อให้ลูกน้อยเรอทุกครั้ง เมื่อเบบี๋เรอเสร็จแล้วให้จับนั่งหรือนอนในท่าศีรษะสูงประมาณ 30 นาทีก่อน ค่อยให้นอนในท่าปกติ

 

  1. การพลัดตกจากที่สูง

สาเหตุ : เมื่อเด็กสามารถเคลื่อนไหวด้วยการคว่ำเองได้ การเลี้ยงดูเด็กด้วยความประมาท ขาดความระมัดระวัง ปล่อยเด็กไว้ตามลำพังในที่สูง เช่น บนโต๊ะ และบนเตียง เด็กจะพลิกตะแคงตัวตกลงมา ทำให้เด็กได้รับอันตราย

วิธีป้องกัน :  เมื่อเด็กคืบและคลานได้ควรระมัดระวัง ดูแลไม่ให้เด็กคลานเข้าไปใต้เตียงหรือเก้าอี้ ไม่ให้เด็กปีนป่ายโต๊ะ เก้าอี้ อาจล้มลงทับเด็ก หรือกระแทกศีรษะ ทำให้เด็กบาดเจ็บ ผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

 

  1. จากการกลืนสารพิษ

สาเหตุ : เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เริ่มคลานได้ เด็กมักชอบคลานไปตามบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้าน ชอบใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผงซักฟอก น้ำยาขัดห้องน้ำ สบู่ ยาฉีดยุง ที่เด็กคว้าหยิบได้เข้าปาก

วิธีป้องกัน : ผู้ใหญ่ควรเก็บสารพิษไว้ในที่ที่ปลอดภัยให้พ้นจากมือเด็ก ควรทำลูกกรงกั้นไม่ให้คลานเข้าไปหยิบมาเล่นได้

 

  1. จากความร้อน

สาเหตุ : เมื่อเด็กคลานได้จะรู้จักเกาะยืน หรือเหนี่ยวรั้งตัวเพื่อยืนขึ้น อาจเตาะแตะไปทั่วบ้าน จนทำให้ถูกน้ำร้อนหรือของร้อน ๆ ภายในบ้านลวกได้

วิธีป้องกัน : ไม่ควรใช้ผ้าปูโต๊ะ หรือนำของร้อน ๆ วางในที่ที่เด็กหยิบจับได้ ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก

 

  1. การจมน้ำ

สาเหตุ : เด็กวัยทารกยังอาบน้ำเองไม่ได้ ผู้เลี้ยงต้องอุ้มเด็กอาบน้ำ อาจเผลอทำเด็กทารกหลุดมือ ทำให้เด็กสำลักน้ำ หรือเมื่อเด็กนั่งได้ ปล่อยทารกนั่งอาบน้ำในอ่างอาบน้ำตามลำพัง เด็กอาจพลาดหล่นลงไปในน้ำ จมน้ำ สำลัก และเสียชีวิตได้

วิธีป้องกัน : อาบน้ำเบบี๋ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงไม่ปล่อยทารกไว้ตามลำพังในห้องน้ำหรืออ่างน้ำต่าง ๆ โดยเด็ดขาด

 

  1. การเลี้ยงเด็กทารก

สาเหตุ : เด็กทารกอายุ 1-2 เดือน อาจได้รับอันตรายจากการอุ้มพาดบ่าโดยไม่ประคองช่วงคอและหลัง การอุ้มทารกไม่ระมัดระวังอาจทำให้ทารกพลัดตกได้ หรือขณะที่ทารกนั่งรถหัดเดิน อาจล้มคว่ำลงมาจากรถ หรือรถอาจตกจากที่สูง ได้

วิธีป้องกัน : อุ้มเด็กให้ถูกท่าและถูกวิธี รวมถึงดูแลลูกด้วยความใส่ใจและรอบคอบ ไม่ปล่อยให้อยู่ลำพัง

 

นอกจากนี้ควรเล่นกับทารกด้วยความระมัดระวัง ไม่จับเด็กโยนขึ้นสูง ๆ แล้วรอรับ เพราะอาจรับพลาด เป็นเหตุให้เบบี๋ได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรง และได้รับความกระทบกระเทือนต่ออวัยวะที่สำคัญ พิการ หรือเสียชีวิตได้

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *