เช็คว่าลูกเป็นกลุ่มเสี่ยงไหม ด้วยการประเมินระบบประสาทและพัฒนาการ

0

เด็กกลุ่มเสี่ยง หมายถึง ทารกแรกเกิดที่ขาดออกซิเจน และ/หรือ มีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการที่ล่าช้า ปัญหาการเรียนรู้ และอาจเกิดความพิการทางสมอง การได้รับการค้นพบและแก้ไขโดยทันทีจะช่วยลดปัญหาได้

 

1

 

ระบบประสาท (Nervous System) เป็นศูนย์กลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ในการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะ ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของต่อมและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การตรวจประเมินระบบประสาทและพัฒนาการเด็ก (Neurodevelopment) ทำได้ดังนี้

 

  1. ตรวจปฏิกิริยา Moro Reflex สำหรับทารกแรกเกิด (อายุไม่เกิน 1 เดือน)

วิธีประเมิน : อุ้มทารกประคองศีรษะกับต้นคอ เลื่อนมือลงมาบริเวณหลัง ทำให้ศีรษะทารกหงายไปข้างหลังหรืออาจกระตุ้นทารกที่นอนหงายอยู่ด้วยเสียงดัง ทารกจะมีปฏิกิริยาตอบสองที คือแขนขาจะเหยียดชูขึ้น แบมือและกางออกสองข้างเท่า ๆ กัน ก่อนที่จะโอบเข้าหากันเหมือนจะกอด ทารกตอบสนองทันทีแบบสะดุ้ง ยกแขนและขาสองข้างเสมอกัน อาจร้องไห้

 

  1. ตรวจความตึงตัวของกล้ามเนื้อ Muscle Tone สำหรับทารกแรกเกิด (อายุไม่เกิน 1 เดือน)

วิธีประเมิน : สังเกตความตึงตัวของกล้ามเนื้อยกแขนขาชูขึ้นแล้วปล่อยลง ทารกจะหดพับแขนขาเข้าหาตัวแล้วยืดออกหรือสังเกตแรงต้านข้อต่อ โดยการจับปลายแขนขาแล้วเขย่าเบา ๆ ดูการพลิ้วไหวหรือแข็งเกร็งของข้อต่อ สังเกตแรงต้านการเคลื่อนไหวจากกล้ามเนื้อ เช่น การที่จับทารกเหยียดข้อศอกแล้วมีแรงต้านเกิดขึ้นขณะเคลื่อนไหวหรือไม่มีแรงต้านเลย ประเมินได้ว่าผ่าน หากทารกมีกล้ามเนื้อตึงตัวปกติ ไม่แข็งเกร็งหรืออ่อนปวกเปียก

 

  1. ตรวจข้อเท้า Ankle Clonus สำหรับทารกแรกเกิด (อายุไม่เกิน 1 เดือน)

วิธีประเมิน : ให้ใช้นิ้วมือ 4 นิ้วรองรับน่องของทารกและขาให้ลอยจากที่นอน กระตุ้น ankle reflex โดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางที่ฝ่าเท้าขึ้นและลง 2-3 ครั้ง แล้วดันขึ้นทันทีทันใดหนึ่งครั้ง ข้อเท้าทารกเคลื่อนเป็นจังหวะ ขึ้น–ลง 1-4 ครั้ง หรือไม่เคลื่อนเลย

 

  1. ตรวจการเหยียดแขนและขา Asymmetrical Tonic Neck Reflex (ATNR) สำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือน

วิธีประเมิน : จับทารกนอนหงายหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งทันทีทันใด โดยให้คางอยู่เหนือหัวไหล่ ทารกเหยียดแขนและขาไปด้านที่หันหน้าและงอแขนและเข่าข้างตรงข้าม เหมือนท่าฟันดาบหรือยิงธนู

 

  1. ตรวจการกำมือ Integrated palmar grasp reflex สำหรับเด็กอายุ 3-4 เดือน

วิธีประเมิน : สอดนิ้วมือเข้าไปในฝ่ามือเด็กทารก ด้านนิ้วก้อยหรือใช้นิ้วแตะฝ่ามือของทารก ทารกจะกำไว้ชั่วครู่แล้วปล่อย คือสามารถคลายมือได้เอง แต่ถ้าทารกกำมือแน่นขนาดผู้ตรวจสามารถยกทารกขึ้นจากพื้นที่นอนแสดงถึงทารกผิดปกติ

 

  1. ตรวจการกางแขน Parachute Reflex สำหรับเด็กอายุ 10-12 เดือน

วิธีประเมิน : จับตัวทารกบริเวณเอวในท่านอนคว่ำให้มั่นคง ยกสูงขึ้นจากพื้นเตียงประมาณหนึ่งฟุต แล้วลดระดับต่ำลงมาเร็ว ๆ ทารกจะใช้แขนทั้งสองข้างกางออกไปข้างหน้าพร้อมที่จะใช้มือยันพื้นได้ทันทีและเท่ากัน เหมือนท่าคนกระโดดร่มได้

 

หากเบบี๋มีปฏิกิริยาไม่เป็นไปตามพัฒนาการที่ควรเป็น หรือสงสัยว่ามีความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ก่อนสายเกินแก้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *