“แหวะนม” หรือ “สำรอก” เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด ถึง 4 เดือน เนื่องจากการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่สมบูรณ์ หลังดูดนมอิ่มแล้ว จึงทำให้น้ำนมท้นขึ้นมาจากกระเพาะอาหารและแวะออกมาทางปาก บางครั้งออกทั้งทางปากและจมูก เมื่อลูกแหวะนม คุณแม่ต้องรู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้องค่ะ
อาการ “แหวะนม” เกิดขึ้นเพราะลูกเล็กระบบย่อยอาหารจึงยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หูรูดในกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรงพอ ดูดนมเร็วเกินไป มีลมในท้องมาก หรือการให้นมลูกในปริมาณมากเกินกว่าที่กระเพาะของเด็กจะรับได้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการแหวะนมในทารก ลักษณะอาการเหมือนการสำลักปกติ ส่วนใหญ่ทารกจะมีอาการนี้หลังกินนม เมื่อลูกเรอหรือน้ำลายไหล อาจมีน้ำนมไหลย้อนกลับจากหลอดอาหาร
แต่หากน้ำนมไหลลงไปที่กระเพาะแล้วไหลย้อนกลับออกมา จะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวแทน โดยน้ำนมที่ออกมาอาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากถูกกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อย หรือคิดว่านมที่ให้ลูกนั้นไม่ดี
วิธีดูแลเมื่อทารกแหวะนม
- ให้ลูกดูดนมก่อนที่ลูกจะรู้สึกหิวจัด ป้องกันลูกดูดนมในปริมาณที่มากและเร็วจนเกินไป
- จับลูกเรอหลังกินนมเพื่อขับลมในท้องที่เข้าไปขณะดูดนม โดยจับตัวลูกตั้งในท่านั่งหรืออุ้มพาดบ่า
- หลังจากเจ้าตัวเล็กกินนมจนอิ่ม ให้แม่อุ้มลูกในท่านั่งหลังตรง ป้องการการแหวะนม และช่วยเรื่องการย่อยของลูก
- จัดท่าของลูกให้อยู่ในท่าหัวสูงอย่างน้อย 30 นาที ก่อนให้ลูกนอนลง ก็จะช่วยลดอาการแหวะนมได้
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกสำลักเวลาแหวะนม ให้จับลูกวางนอนตะแคง ศีรษะอยู่ในระดับเดียวกับลำตัวหรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพื่อให้น้ำนมไหลออกมาข้างนอก ไม่สำลักเข้าหลอดลมและปอด และและถ้ามีน้ำนมค้างอยู่ในรูจมูก ให้เช็ดออกเพื่อป้องกันการสำลักนม
โดยทั่วไปแล้ว การแหวะนมของทารกเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้ามีอาการทุกมื้อ มีปัญหาน้ำหนักลด หรือไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ควรต้องพาลูกรักไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไป