รู้ยัง? พัฒนาการทางสมอง 6 ด้านนี้ เบบี๋มีตั้งแต่แรกเกิดแล้วนะ

0

เด็กเกิดมาพร้อมด้วยเซลล์สมองจำนวนมากมาย แต่สมองจะเจริญเติบโตได้และทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาของการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง และการพัฒนาวงจรปฏิกิริยาของสารเคมีในสมอง เซลล์สมองจะเริ่มทำงานต่อเมื่อได้รับการกระตุ้น แต่ต้องเป็นการกระตุ้นที่ถูกต้องและกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

 

6

 

การพัฒนารูปแบบการสร้างความรักความผูกพันในเด็ก (Attachment style) ต้องได้รับการส่งเสริม และพัฒนาความรักความผูกพันตั้งแต่ในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต สมองจึงจะพัฒนาได้อย่างปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองต้องเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ ถ้าเด็กถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับความรัก ไม่ได้รับการเอาใจใส่ในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต และแม้ว่าเขาจะได้รับสิ่งเหล่านี้ในช่วงเวลาหลังจากนั้นก็ตาม ก็จะช้าเกินไปสำหรับการพัฒนาวงจรปกติต่าง ๆ ภายในสมอง เราจึงเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก (Critical period)

 

ข้อมูลจากความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูลูก โดยสำนักพัฒนาสุขภาพจิต ระบุว่า ทารกแรกเกิดถึง 1 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทองของการอบรมเลี้ยงดูลูกเนื่องจากตั้งแต่แรกเกิดเด็กมีพัฒนาการทางสมองที่สำคัญ ดังนี้

  1. ด้านกระบวนการทางจิตประสาท(Neuropsychological process) เด็กมีพัฒนาการในเรื่องความจำการเรียนรู้ ความสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการทำงานที่สมบูรณ์ด้านอื่น ๆ ของสมอง
  2. ด้านการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก (Affect regulation) เป็นการทำหน้าที่ของสมองส่วน Lymbic system
  3. ด้านการพัฒนาตัวแบบของตนเองและผู้อื่น (Representative of self and other) ในวัยนี้เด็กจะเรียนรู้การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น และเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาความคิดเกี่ยวกับตนเอง
  4. ด้านรูปแบบของความรักความผูกพัน (Attachment style) เด็กวัยนี้จะเรียนรู้เรื่องรูปแบบของความรัก ความผูกพัน (Attachment style) ซึ่งจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเด็กและเป็นแนวทางให้เด็กเข้าใจเรื่องการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น สมองส่วนหน้าซีกขวา (Right frontal brain) และสมองส่วน Lymbic system เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยการทำงานของวงจรสารเคมีในสมอง ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจการสื่อสารด้านอารมณ์กับผู้อื่น และวงจรการทำงานของสารเคมีในสมองนี้ จะมีการพัฒนาเมื่อพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูก
  5. ด้านการจัดการกับความเครียด (Adaptation to stress) ขบวนการจัดการกับความเครียดของเด็กวัยนี้ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ โดยปกติเมื่อร่างกายมีความเครียด จะมีการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenaline) ซึ่งในผู้ใหญ่สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียด โดยควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนอะดรีนาลิน แต่เด็กเล็กยังไม่มีระบบควบคุมในระยะแรก จึงได้รับการกระทบกระเทือนได้ง่ายจากฮอร์โมนความเครียดเหล่านี้ ดังนั้นความเครียดระดับสูง ๆ จึงมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก
  6. ความสามารถที่จะใกล้ชิดสนิทสนม และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Capacity for intimacy and empathy) เด็กเรียนรู้ที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น เด็กต้องการสัมพันธภาพเชิงบวกเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การไว้วางใจผู้อื่น (Trust) ถ้าเด็กวัยนี้ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างความไว้วางใจผู้อื่นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กในระยะยาว

 

ทั้งนี้ จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เด็กทารกมีความรักความผูกพันกับผู้อื่น จะมีการพัฒนาของสมองดีกว่าเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้ง หรือถูกปล่อยปละละเลย ซึ่งสมองจะมีขนาดเล็ก และเซลล์ประสาททำงานเชื่อมต่อกันได้ไม่ดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *