ดูก่อน! ยาที่คุณเก็บไว้ยังใช้ได้หรือเสื่อมคุณภาพไปแล้ว

0

แทบทุกบ้านมักมียารักษาโรคติดไว้ในตู้ยา โดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนี้ยังมีทั้งยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลแล้วกินไม่หมด ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกกินยาที่เหลืออยู่ในบ้านมากกว่าออกไปหาหมอเมื่อมีอาการเจ็บป่วย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุหากกินยาเสื่อมคุณภาพโดยไม่รู้ตัว อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!!

Bottles of pills

ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ซึ่งหมายถึงยาที่หมดประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว วิธีการสังเกตวันหมดอายุของยา ให้ดูที่ฉลากหรือกล่องหรือแผงยาโดยสังเกตคำว่า “ยาสิ้นอายุ” ตามด้วย วัน เดือน และปี ที่ยาหมดอายุนอกจากวันหมดอายุของยาที่เราต้องอ่านฉลากทุกครั้งก่อนจะกินยาแล้ว เรายังต้องสังเกตสภาพของยาด้วยว่า มีลักษณะเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยสังเกตจากสภาพยาว่าแตกบิ่น ขึ้นรา บวม พอง เหลวเยิ้ม สี กลิ่น รส เปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งการเสื่อมสภาพของยาสามารถเกิดได้ก่อนวันหมดอายุตามที่ระบุบนฉลากได้ ซึ่งมักเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี

ลักษณะของยาที่เสื่อมสภาพแล้ว สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ยาเม็ด สังเกตว่ายาเม็ดจะแตกร่วน สีเปลี่ยนไป มีจุดด่าง ขึ้นรา เยิ้มเหนียว หรือมีกลิ่นผิดไปจากเดิม
  • ยาแคปซูล สังเกตว่าแคปซูลจะบวม พองออก ผงยาในแคปซูลเปลี่ยนสีเช่น ยาเตตร้าซัยคลินที่เสียแล้ว ผงยาจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ต้องระวังอย่างยิ่งเพราะเป็นอันตรายต่อไตมาก
  • ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรดสำหรับรับประทาน ยาคาลาไมน์ทากันยุง แก้ผื่นคัน ซึ่งเป็นยาทาภายนอก หากเสื่อมสภาพจะจับกันเป็นก้อน มีความเข้มข้น กลิ่น สี และรสเปลี่ยนไป
  • ยาน้ำเชื่อม เช่น ยาแก้ไอ หากหมดอายุ ยาจะมีลักษณะขุ่นมีตะกอนผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มีกลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว
  • ยาหยอดตา ถ้าเสื่อมสภาพจะเปลี่ยนจากน้ำใส ๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ
  • ยาขี้ผึ้งและครีม หากเสื่อมสภาพเนื้อยาจะแข็งหรืออ่อนกว่าเดิมเนื้อไม่เรียบ หรือสีของยาเปลี่ยนไป

ดังนั้น ก่อนใช้ยาใด ๆ จึงควรดูวันหมดอายุ และสังเกตสภาพยาว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้ทิ้งไปดีกว่า และเพื่อความปลอดภัย ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *