“โรคความดันโลหิตสูง” กับ 2 ประเด็นที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด

0

“ความดันโลหิตสูง” คือ สภาวะผิดปกติที่บุคคลมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่  โดยโรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่อ้วน มีไขมันในเลือดสูงหรือสูบบุหรี่ ที่น่ากลัว คือ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ นำไปสู่การดูแลตัวเองที่ผิดพลาดและนำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้

 

133

 

โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 จะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงคือ ความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานอาหารเค็ม ไม่ออกกำลังกาย หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 5 มีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท การได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด

 

2 ประเด็นโรคความดันโลหิตสูงที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด ได้แก่

 

ประเด็นที่ 1 : เมื่อไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าควบคุมโรคได้ดี

ข้อเท็จจริง : โรคความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (ค่าตัวบน) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว(ค่าตัวล่าง) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการผิดปกติ แสดงให้รู้ แต่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย อัมพาต หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

 

นอกจากนี้โรคความดันโลหิตสูงยังก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ในระยะยาวเช่นไตเสื่อม โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น อาการปวดมึนศีรษะ มักปวดตื้อบริเวณท้ายทอยช่วงเช้าหลังตื่นนอน ถ้าความดันโลหิตสูงรุนแรงอาจมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

 

ประเด็นที่ 2 : ไม่ควรรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเนื่องจากจะทำให้ตับและไตเสื่อม

ข้อเท็จจริง : การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุมี 2 วิธี คือ การรักษาด้วยการไม่ใช้ยา และการรักษาด้วยการใช้ยา ในส่วนของ รักษาด้วยการใช้ยานั้น ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาด้วยตนเอง และยาลดความดันโลหิตจัดเป็นกลุ่มยาที่มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ต่อเนื่องได้เป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยจึงไม่ควรกลัวการรับประทานยาต่อเนื่อง

 

ในทางกลับกันผู้ป่วยหลายรายเข้าใจผิดว่าการกินยาต่อเนื่องจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นทำให้ตับหรือไตเสื่อมจึงหยุดยาเองเมื่อไม่มีอาการผิดปกติ โดยไม่รู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงหลังหยุดยาเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติ จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจวาย ไตวาย ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดยาเอง ยกเว้นเมื่อรับประทานยาแล้วมีความดันโลหิตต่ำ อาการมึนงง หน้ามืด โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืน ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

 

เพื่อการรักษาที่ได้ผลผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร งดอาหารรสเค็ม มัน เน้นผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้พอเพียง ออกกำลังกายเป็นประจำ งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่องใส

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *