แมงดาทะเล มีพิษรุนแรง กินไม่ระวัง เสี่ยงตายได้

0

อาหารการกิน นับเป็นหนึ่งในเรื่องพลาด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิต เช่นเดียวกับ “แมงดาทะเล” สัตว์ทะเลที่หลายคนติดใจในเมนูยำไข่แมงดา แม้รสชาติจะโดดเด่น แต่สิ่งที่ควรรู้ก่อนจะกิน คือ แมงดาทะเล มีพิษรุนแรง กินไม่ระวัง เสี่ยงตายได้

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) ระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบเหตุการณ์การรับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษ รวม 6 เหตุการณ์ มีข้อมูลผู้รับประทาน 38 ราย ในจำนวนนี้ป่วย 18 ราย และเสียชีวิตรวม 5 ราย มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 27.8 (เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 3 ราย) ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มาของแมงดาทะเลมีทั้งที่จับเองและซื้อจากร้านอาหารหรือตลาด

และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 มีรายงานรับประทานแมงดาทะเลมีพิษเป็นเหตุการณ์แรกของปี 2566 มีผู้ร่วมรับประทาน 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย และป่วย 5 ราย อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาไม่มีแรง หายใจผิดปกติรู้สึกชาลิ้นและปาก ปลายมือ ปลายเท้า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย หลังจากรับประทาน จะเริ่มมีอาการภายใน 3 ชั่วโมง และเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ช่วงเดือนนี้จึงคาดว่ามีโอกาสพบผู้รับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษได้มากขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูวางไข่ของแมงดาทะเล ซึ่งจะพบแมงดาทะเลชุกและมีไข่

สำหรับแมงดาทะเลในน่านน้ำไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. แมงดาจาน หรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม

ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย พื้นผิวด้านบนเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว มีหางเหลี่ยม มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย

2. แมงดาถ้วย หรือแมงดาทะเลหางกลม หรือเห-รา หรือแมงดาไฟ

มีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้ ลำตัวโค้งกลม มีหางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมไม่มีสันและไม่มีหนาม พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน

แมงดาทะเล โดยเฉพาะแมงดาถ้วยเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ tetrodotoxin หรือ saxitoxin เช่นเดียวกับปลาปักเป้า เป็นสารพิษที่ละลายน้ำได้ดี ทนความร้อน พิษจะยับยั้งการทำงานของระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีอาการหลังรับประทานอาหาร 30 นาที โดยมีอาการหูอื้อ และไร้ความรู้สึก เริ่มจากรอบปาก และแพร่ไปยังคอ และหน้า จากนั้นจะปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และอาจเสียชีวิตได้เมื่อระบบทางเดินหายใจไม่ทำงาน ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ

อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการจำแนกชนิดของแมงดาทะเล ดังนั้น หากไม่ทราบชนิดหรือแยกไม่ออกไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากแมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่วนกรณีที่ผู้ขายอ้างว่า เป็นแมงดาถ้วยแต่รับประทานได้เพราะได้ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษ (เส้นเมา) ออกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความจริงแมงดาถ้วยมีพิษอยู่ที่ทางเดินอาหารและไข่ และไม่สามารถกำจัดพิษออกได้โดยง่าย เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรรับประทานแมงดาถ้วย รวมถึงงดรับประทานไข่แมงดาทะเลที่อยู่ในลักษณะบรรจุหีบห่อโดยไม่เห็นตัวและหางของแมงดาโดยเด็ดขาด

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าได้รับพิษหรือมีอาการผิดปกติจากการรับประทานแมงดาทะเล ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานอาหารที่สงสัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *