เมื่อเจอคนถูกไฟช็อตไฟดูด ทำยังไงไม่ให้พลาด!

0

กลายเป็นอีกหนึ่งเคสที่พลาดเพราะการปฐมพยาบาลอย่างผิดๆ กับข่าวคนงานโดนไฟช็อต แล้วเพื่อนร่วมงานเห็นว่าผู้ประสบอุบัติเหตุตัวร้อนจัด จึงใช้ทรายกลบฝังรักษาแบบโบราณ สุดท้ายไม่รอด เสียชีวิตในที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำสอง เรามาเรียนรู้การปฐมพยาบาลผู้ถูกไฟช็อตไฟดูดอย่างถูกวิธีกันค่ะ

จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลผู้เจ็บป่วยหรือผู้ประสบภัยต่างๆ ในเคสนี้ก็เช่นกัน เมื่อผู้ประสบภัยถูกไฟฟ้าช็อตจนล้มลงนอนแน่นิ่ง เพื่อนคนงานก็รีบไปสับคัตเอ้าท์ตัดไฟ และเมื่อเห็นว่าผู้ประสบภัยตัวร้อน จึงเลือกใช้วิธีที่ได้ยินต่อๆ กันมาอย่างการเอาทราบกลบผู้ประสบภัย ทั้งที่ควรเลือกปั๊มหัวใจผู้ป่วยที่หมดสติจนแน่นิ่งไปหรือรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลก็อาจจะมีโอกาสรอดชีวิตได้

วิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่โดนไฟฟ้าช็อต

help-and-first-aid-for-electric-shock-patients

โดย อ.พญ.อุษาพรรณ สุรเบญจวงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยมหิดล

  1. ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่โดนไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่าโดยเด็ดขาด รวมถึงต้องระวังการสัมผัสโดนตัวนำที่อาจนำไฟฟ้ามาถึงตัวผู้ช่วยเหลือได้ เช่น พื้นที่เปียกน้ำ
  2. ตัดกระแสไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุทันที ยกเว้น สายไฟฟ้าแรงสูง ที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า
  3. ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถลุกเดินเองไหว ไม่ควรทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น ยกเว้น สถานที่นั้นอาจเป็นอันตราย เช่น ยังมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล หรือตึกถล่ม ก่อนสัมผัสตัวผู้บาดเจ็บควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าในการป้องกันตัว เช่น ถุงมือยาง ผ้าแห้ง พลาสติกแห้ง
  4. หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากไฟบ้านทั่วไป และมีเพียงบาดแผลไม่ลึก ไม่มีอาการผิดปกติอื่น สามารถให้การดูแลโดยทำแผลด้วยยาฆ่าเชื้อและสังเกตอาการที่บ้านได้ ยกเว้น ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไต โรคหัวใจ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย
  5. หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้าแรงสูง มีบาดแผลไหม้ที่มีขนาดใหญ่ ลึก ปวดแผลมาก หรือมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อย หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
  6. หากผู้ป่วยหมดสติ ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ และพิจารณาให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานต่อไป เช่น ผายปอด นวดหัวใจ

ที่สำคัญควรหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นประจำ พบจุดไหนที่มีความเสี่ยง ให้รีบดำเนินการแก้ไข เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *