ไม่อยากผิวเยินหน้าพัง เช็คให้ดีก่อน “ฉีดฟิลเลอร์”

0

ผิวหน้าที่สวยใสไร้ริ้วรอย เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา แต่เพราะอายุที่มากขึ้นหรือเหตุผลอื่น ๆ อาจทำให้ผิวมีริ้วรอยที่ไม่น่าดู “การฉีดฟิลเลอร์” จึงถูกนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้คือ การฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ผิวหนังอาจเกิดอันตรายได้   

การฉีดสารเติมเต็ม (Injectable dermal filler) หรือที่เรียกกันว่า “ฉีดฟิลเลอร์” เป็นการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อเติม หรือเสริมส่วนที่บกพร่อง เช่น ผิวตอบ ริ้วรอย หรือร่องลึกบนใบหน้า โดยส่วนใหญ่จะนิยมฉีดสารเติมเต็มบริเวณใบหน้า เช่น ร่องแก้ม ใต้ตา ขมับ หน้าผาก ริมฝีปาก คาง จมูก เพื่อลดริ้วรอยร่องลึกบนใบหน้า ปรับรูปหน้า แก้หนังตาตก

สำหรับสารเติมเต็ม แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1. สารเติมเต็มแบบชั่วคราว เช่น สารในกลุ่มไฮยาลูรอนิกแอซิด คอลลาเจน ไขมันของตัวเอง หรือเรียกว่าการเติมไขมัน 2. สารเติมเต็มแบบกึ่งถาวร เช่น สาร PMMA สารโพลีอัลคิลลิไมด์ 3. สารเติมเต็มแบบถาวร เช่น ซิลิโคนเหลว หรือน้ำมันพาราฟิน (ไม่สามารถสลายเองได้ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้)

ปัจจุบันได้มีความนิยมในการฉีดสารเติมเต็ม หรือสารแปลกปลอมเข้าสู่ผิวหนังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อเสริมความงาม โดยที่สารแปลกปลอมนั้นอาจเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สำหรับ “ทา” ที่ผิวหนังชั้นบน แต่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยการนำไปฉีดเข้าผิวหนัง หรือสารที่ใช้สำหรับ “ฉีดเข้าหลอดเลือด” โดยตรง ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

1. เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีอาการผิวหนังบวม แดง กดเจ็บที่ผิวหนัง หรือเป็นหนอง อาจเกิดขึ้นทันทีภายในไม่กี่สัปดาห์หลังการฉีด หรืออาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว 

2. เกิดก้อนที่ใต้ชั้นผิวหนัง ที่เรียกว่า กรานูโลม่า (Granuloma) มีอาการบวมเป็นก้อน อาจมีหรือไม่มีการอักเสบร่วมด้วยก็ได้ 

3. เกิดภาวะตีบตันของเส้นเลือด อาจมีอาการปวดหรือชา ที่บริเวณที่ได้รับการฉีด หรือบริเวณใกล้เคียง

4. บริเวณที่รับการฉีดมีสีผิดปกติ อาจม่วงช้ำ หรือขาวซีด

5. มีอาการแสบ แห้ง แดงที่ผิวหนังมากกว่าปกติ ที่บริเวณที่รับการรักษา

ผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนที่จะทำการฉีด ดังนี้

1. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดว่าผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือไม่           

2. ตรวจสอบแพทย์ผู้ที่จะทำการรักษา ว่าเป็นแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาต หรือไม่

3. ตรวจสอบสถานพยาบาลที่จะเข้ารับการฉีดรักษา ว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

4. ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดว่าเป็นของใหม่ เปลี่ยนทุกครั้งก่อนการรักษาในผู้ป่วยทุกรายหรือไม่

ทั้งนี้ หากมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้น ผู้บริโภคควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงหากต้องการปรึกษาเรื่องผิวพรรณ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *