แคะหูไม่ระวัง เสี่ยงแก้วหูทะลุ-สูญเสียการได้ยิน

0

ขี้หู มีส่วนผสมของสารช่วยหล่อลื่นและต้านเชื้อแบคทีเรียที่ต่อมในหูหลั่งออกมา ร่วมกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และเส้นขน มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู แม้จะมีหน้าที่ดังกล่าวแต่คนส่วนใหญ่มองว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกจึงควรกำจัด คำถาม คือ การแคะขี้หู จำเป็นหรือไม่?

การแคะหู หรือ ปั่นหูบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากขี้หูของคนเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม ช่วยเคลือบช่องหู และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่มีขี้หูจะทำให้รูหูแห้งและคัน คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกในร่างกายที่ต้องกำจัดออกจึงแคะหูบ่อย ๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วขี้หูจะสามารถหลุดออกมาได้เองหรือเรียกว่า Self-Cleaning Mechanism คือการค่อย ๆ ทำความสะอาดตัวเอง กล่าวคือ เวลาที่เราขยับกราม ขี้หูเดิมจะเคลื่อนตัวจากด้านในหูสู่ภายนอกและในที่สุดก็จะหลุดออกมาได้เอง นี่เป็นวิธีที่หูทำความสะอาดตัวเองและกําจัดขี้หูออกไป

ดังนั้น การทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลีแคะหู ใช้น้ำหยอดหู จึงไม่มีความจำเป็น ยกเว้นในบางคน (เช่น คนที่มีช่องหูตีบหรือแคบเกินไปตั้งแต่กำเนิด) สำหรับคนที่ขี้หูเหนียวและเคลื่อนที่ออกมาช้า การแคะขี้หูอาจทำให้ขี้หูรวมตัวกันเป็นก้อนภายในรูหู ส่งผลให้มีอาการหูอื้อ ปวดแน่น ในหู กรณีเช่นนี้ควรพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดรูหู ไม่ควรแคะเอง เพราะจะทำให้ขี้หูอุดตันถูกดันลึกมากขึ้น หลังจากรักษาหายแล้วควรหลีกเลี่ยงการปั่นหูเพราะอาจเป็นซ้ำได้

การแคะหูบ่อย ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายหลายอย่าง เช่น เกิดการดันขี้หูบางส่วนไปติดอยู่บริเวณแก้วหูทำให้ขี้หูอุดตัน

อาจทำให้เกิดรอยถลอกหรือแผลในรูหู หากรอยถลอกสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้ติดเชื้อบริเวณหูชั้นนอก ทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ มีน้ำไหลจากหู บางรายขณะแคะหูอยู่อาจมีคนวิ่งหรือเดินมาชนแล้วทำให้ไม้พันสำลีถูกกระแทกเข้าไปถึงเยื่อแก้วหู อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้ โดยจะมีอาการเจ็บปวดที่หูมาก สูญเสียการได้ยินได้ นอกจากนี้ ขี้หูติดอยู่ที่แก้วหูเป็นเวลานาน อาจเกิดการอักเสบที่เยื่อบุแก้วหูได้

ดังนั้น การดูแลรักษาหูจึงควรหลีกเลี่ยงการแคะหู โดยใช้เพียงผ้าเช็ดทำความสะอาดบริเวณนอกรูหูเท่านั้น นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการเจ็บในช่องหู หูอื้อ ปวดหู คันหู การได้ยินลดลง มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป หากละเลยอาการของภาวะขี้หูอุดตันโดยไม่ทำการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน

หากหูมีภาวะที่ปกติดีไม่ควรทำการแคะหู ควรทำความสะอาดหูเฉพาะภายนอก หากมีความต้องการทำความสะอาดในช่องหูควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะทำการส่องกล้องภายในรูหู และใช้เครื่องมือในการนำขี้หูออก โดยไม่สัมผัส  ตัวเยื่อบุ หรือผนังหู นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงเสียงที่ดัง เพราะเสียงดังจะส่งผลโดยตรงทำให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นในและทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็ว

ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติบริเวณหู ช่องหู อย่าปล่อยผ่าน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *