“เขียง”
ถือเป็นภาชนะที่สำคัญในการประกอบอาหาร เป็นอุปกรณ์คู่ครัวที่ทุกบ้านขาดไม่ได้ไม่ว่าจะหั่น สับ ซอย กับเนื้อหรือผัก ก็ต้องใช้เขียงเพื่อรองรับมีดทั้งนั้น ดังนั้น การเลือกใช้เขียงจึงต้องใส่ใจกันสักนิด เพราะหากละเลยไม่ทำความสะอาดเขียงให้สะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้สกปรก คุณอาจได้โรคเป็นของแถมนะคะ
หากผู้บริโภคหรือผู้ประกอบอาหารละเลยในเรื่องการเลือก การใช้ และการเก็บเขียงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารตามมาได้ โดยเฉพาะเขียงที่สกปรก ไม่มีการล้างทำความสะอาดเป็นประจำ จะเป็นพาหะนำเชื้อโรคปนเปื้อนสู่อาหาร หรือเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งเชื้อไข้หวัดนกด้วย
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเขียง
- เขียงที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ เขียงไม้และเขียงพลาสติก โดยควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน
- ควรเลือกเขียงที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่มีรอยขูด หรือร่องเฉือนลึกลงจนไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้
- ควรแยกเขียงที่ใช้หั่นอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักสดต่างๆ และหั่นอาหารสุก เช่น อาหารที่ปรุงสุกแล้ว ออกจากกันโดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคระหว่างอาหารสุกกับอาหารดิบ
- ระหว่างการใช้งาน ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดเขียง ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดมีดที่มีความสกปรกอยู่แล้วเป็นทุนเดิมมาเช็ดเขียง เพราะอาจมีเชื้อโรคปนอยู่ โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์
- บางช่วงที่เขียงไม่ได้ใช้งาน ต้องใช้ฝาชีขนาดพอดีกับเขียงครอบเอาไว้เพื่อป้องกันแมลงวันตอม
- การทำความสะอาดเขียงต้องทำทุกครั้งก่อนและหลังการใช้งาน โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ ต้องล้างคราบไขมันออกให้สะอาดหมดจด
- วิธีการทำความสะอาดเขียงมีหลายวิธี เช่น ใช้ราดน้ำร้อนลงไปบนเขียง ทิ้งไว้ 1 นาที จากนั้นล้างน้ำเปล่า 1 รอบ แล้วเอาไปตากแดดให้แห้ง, ใช้น้ำส้มสายชู เช็ดทำความสะอาดเขียงให้ทั่ว แล้วใช้มีดปลายแหลมขูดเอาคราบสกปรกที่ติดอยู่ออก จากนั้นใช้น้ำต้มสุกราดให้ทั่ว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง
- การเก็บรักษาเขียง ต้องเก็บเขียงไว้ให้สูงกว่าพื้นถ้าเป็นเขียงไม้ต้องหมั่นนำออกผึ่งแดด เพื่อป้องกันเชื้อราที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายหากมีความชื้นมากเกินไป
แม้เขียงจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรุงอาหารมากมาย แต่ถ้าใช้ผิดวิธีหรือละเลยเรื่องความสะอาด แทนที่จะได้ประโยชน์ กลับต้องเสี่ยงต่อเชื้อโรคแทนนะคะ