“ภาวะจอตาเสื่อม” (Age-related Macular Degeneration) เป็นโรคร้ายทางตาของผู้สูงอายุ พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุ สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร มีความหมายตรงตัวคือ “เสื่อม” ซึ่งจะเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น สำหรับผู้ที่อายุเกิน 75 ปี มีโอกาสถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 45-50 ปี
อาการของภาวะจอตาเสื่อมจะแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อคนไข้ที่จะสังเกตความผิดปรกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปรกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไป หรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป
ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะจอตาเสื่อม จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ เชื้อชาติ โดยเชื้อชาติผิวขาวจะมีความเสี่ยงมากกว่าชาวเอเชีย เพศหญิง และพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยภาวะนี้ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้เพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยภาวะนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.75 เท่า ความดันเลือดสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง และโรคทางหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้มีรายงานว่า “แสงยูวี” อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จอตาเสื่อม
การป้องกันภาวะจอตาเสื่อม ทำได้โดย…
1.ตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม
2.งดสูบบุหรี่
3.เลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) ได้แก่ ผักใบเขียว และผลไม้ รวมถึงกินวิตามินเสริม