เทศกาลกินเจ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 1-9 ตุลาคม เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม และไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ด้วยการงดบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินผักผลไม้ และเพราะมีข้อจำกัดเรื่องการกินนี้เอง หากไม่ระมัดระวัง แทนที่จะสุขภาพดี อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามได้ อาทิ ขาดสารอาหาร ไขมันสูง น้ำหนักพุ่งปรี๊ด
เรามาลองดู 5 เคล็ดลับที่จะช่วยให้การกินเจ ‘สุขภาพดี’ และไม่อ้วนกันดีกว่า
1. เลือกอาหารเจ
โดยคำนึงถึงสารอาหารที่ได้รับในแต่ละมื้อ ต้องครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย กินอาหารให้ครบทุกมื้อ ในปริมาณเพียงพอเน้นการกินธัญพืชหรือถั่วเมล็ดแห้งหลากชนิด อาทิ ถั่วแดง ถั่วเขียว งาเพิ่มกากใยอาหาร รวมถึงน้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร เพื่อเสริมโปรตีนกินข้าวกล้องแทนข้าวขาว และเติมเต็มคุณค่าโภชนาการด้วยผลไม้รสไม่หวานจนเกินไป
2. เลี่ยงอาหารบางประเภท
อย่างผัด ทอด เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ โดยเฉพาะน้ำมันในการปรุงอาหาร ไม่ควรเกิน 6ช้อนชาต่อวัน เน้นอาหารเจประเภทต้มที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ จับฉ่าย
3. ปรุงอาหารลด ‘รส’
โดยลดหวาน มัน เค็ม เพราะความเค็มจะมีโซเดียมสูงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและทำให้ไตทำงานหนัก ส่วนความหวานจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้
4. ล้าง ผัก ผลไม้
ต้องนำมาล้างด้วยน้ำไหล 2 นาที หรือแช่ด้วยน้ำเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตรงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตหนึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร โดยแช่นาน 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่นคะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาทีก่อนรับประทาน หรือนำไปปรุงประกอบอาหาร
5. ความสะอาด
โดยอาหารที่ปรุงสำเร็จต้องใส่ในภาชนะที่สะอาดปลอดภัย มีการปกปิดป้องกันแมลงวัน วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และควรนำมาอุ่นทุกๆ 4 ชั่วโมง ผู้ปรุงจำหน่าย มีการสวม ผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร หรือใส่ถุงมือ
หากซื้ออาหารเจปรุงสำเร็จกลับบ้านและไม่กินทันทีควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ต้น ส่วนอาหารเจที่เหลือจากการกิน ต้องใส่ตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง