6 ข้อเกี่ยวกับวัคซีน HPV ที่ทุกคนในครอบครัวควรรู้

0

มะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลก ไม่อยากเสี่ยง หนึ่งในตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยทั้งในเพศชายและหญิง รวมถึงเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ วัคซีน HPV

6 ข้อเกี่ยวกับวัคซีน HPV ที่ทุกคนในครอบครัวควรรู้

1. วัคซีน HPV มีกี่ชนิดและแตกต่างกันอย่างไร

วัคซีน HPV หรือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ถูกใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และถ้ามีการติดเชื้อนี้เป็นเวลานานเป็น 5 ปี 10 ปีขึ้นไป อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกตามมาได้ สำหรับเชื้อไวรัส HPV นี้มีหลายสายพันธุ์ โดยทั่วไปมักจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยจะเป็นเชื้อในสายพันธุ์ 16, 18 เป็นหลัก และกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก (แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ได้) คือสายพันธุ์ 6 และ 11 วัคซีน HPV มีให้เลือกใช้ 3 ชนิด คือ

1. วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกันสายพันธุ์ 16, 18 ได้

2. วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันสายพันธุ์ 16, 18 และ 6, 11 ได้

3. วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกันสายพันธุ์ 16, 18 และ 6, 11 ได้ รวมถึงป้องกันอีก 5 สายพันธุ์คือ 31, 33, 45, 52, 58    

2. ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน HPV

• สามารถฉีดได้ทั้งชายและหญิง

• ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งก่อนฉีดวัคซีน

• มีเพศสัมพันธ์แล้วหรือไม่คิดจะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรฉีดเพื่อป้องกัน HPV

• ถุงยางอนามัยป้องกัน HPV ไม่ได้ 100% เพราะเชื้ออยู่ในอวัยวะอื่น ๆ ด้วย

3. อายุเท่าไหร่ควรฉีดวัคซีน HPV

• สำหรับผู้หญิง

อายุ 9-45 ปี (ชนิดใดก็ได้ 2, 4, 9 สายพันธุ์)

อายุมากกว่า 45 ปี (แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก)

• สำหรับผู้ชาย

อายุ 9-45 ปี (ชนิดใดก็ได้ 4, 9 สายพันธุ์)

4. ประสิทธิภาพของวัคซีน HPV

• 2 สายพันธุ์, 4 สายพันธุ์ ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 70

• 9 สายพันธุ์ ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 90

• 4 สายพันธุ์, 9 สายพันธุ์ ป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ

แนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ยกเว้นผู้ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี ฉีด 2 เข็ม

5. การเตรียมตัวหลังฉีดวัคซีน HPV

• แนะนำให้เฝ้าดูอาการหลังฉีดวัคซีน 15-30 นาที

• อาจมีอาการเป็นไข้/ แดงบริเวณที่ฉีด/ อ่อนเพลีย/ ปวดกล้ามเนื้อ

• ควรพักผ่อนและงดกิจกรรม 2-3 วัน เมื่ออาการหายไป

6. ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน HPV

• ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรฉีดวัคซีน HPV

• วัคซีน HPV มีข้อห้ามฉีดในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน

• วัคซีน HPV สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นในวันเดียวกันได้ (ยกเว้นวัคซีนโควิดให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์)

ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีการฉีดวัคซีน HPV ฟรี ในเด็กผู้หญิงที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ดังนั้น ครอบครัวไหนมีเด็กวัยนี้ อย่าลืมเช็คสิทธิและเข้ารับการฉีดวัคซีนด่วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *