ปลอดโควิด ลดการนำเชื้อเข้าบ้าน ด้วยเคล็ดลับ “4 แยก”

0

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีมาตรการผ่อนคลาย และสามารถไปทำงานนอกบ้านได้ตามปกติ รวมถึงสถานศึกษาได้ทำการเปิดเรียนแบบ onsite ทำให้คนในครอบครัวสามารถนำเชื้อมาติดกันได้ ไม่อยากพลาดนำเชื้อโควิด-19 เข้าบ้าน นี่คือเคล็ดลับ “4 แยก” ที่ช่วยให้คุณและสมาชิกในครอบครัวปลอดโควิด

โรคโควิด-19 ติดเชื้อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย เสมหะ หรือ ละอองฝอยจากการไอ จาม การพูดคุย หรือจากการเอามือไปจับพื้นผิวที่มีฝอยละอองของเชื้อโควิด แล้วมาจับตามใบหน้า ตา จมูก ปาก ฉะนั้น การออกไปข้างนอก ใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คน สัมผัสกับสิ่งของรอบตัวที่มีการสัมผัสร่วม ย่อมเกิดความเสี่ยงในการรับเชื้อ ทำให้คนในครอบครัวสามารถนำเชื้อมาติดกันได้

เคล็ดลับ 4 แยก ปลอดโควิด 19 ลดการนำเชื้อเข้าบ้าน มีดังนี้

1. แยกกิน

พฤติกรรมการกินส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย หากมีพฤติกรรมการกินที่สะอาดปลอดภัยก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่ถ้ามีนิสัยการกินไม่ถูกต้องอาจทำให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดรวมถึงลดการนำเชื้อเข้าบ้าน แนะนำให้ดูแลความสะอาดและแยกกิน ไม่ใช้มือเปล่าหยิบอาหารเข้าปาก ก่อนรับประทานอาหารต้องล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่างในการรับประทาน รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนส้อมแก้วน้ำส่วนตัวไม่ปะปนกับผู้อื่น ที่สำคัญอย่าลืมทำความสะอาดภาชนะและช้อนส้อมทุกครั้ง หลังรับประทานอาหาร

2. แยกใช้

ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ส้อม เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

3. แยกทิ้ง

แยกขยะติดเชื้อหรือขยะที่ถูกสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยน้ำยาฟอกขาว หรือฉีดพรมแอลกอฮอล์ 70 % มัดปากถุงให้แน่น ติดป้าย “ขยะติดเชื้อ” ทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ล้างมือทันทีด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์เจล 

4. แยกอยู่

หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด รวมถึงชั่วโมงเร่งด่วนและสถานการณ์ใด ๆ ที่มีแนวโน้มดึงดูดคนจำนวนมาก อย่าเข้าใกล้คนอื่นมากเกินไป ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตร เว้นระยะห่างการสื่อสารต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อเลี่ยงการกระจายของเชื้อโรค เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงสูง หรือมีสัญญาณและอาการเสี่ยงโรคโควิด อาทิ มีไข้ตัวร้อน ไอแห้ง ๆ อ่อนเพลีย มีเสมหะ หายใจติดขัด เจ็บคอ ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดข้อ หนาวสั่น ต้องแยกตัวออกจากผู้อื่น และตรวจ ATK ทันที เมื่อทราบผล และเฝ้าระวังอาการเพื่อรักษาต่อไป

โควิดยังคงอยู่ใกล้ตัวและอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่อยากติดเชื้อโควิด-19 ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อะไรที่ทำแล้วช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่าลังเลที่จะทำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *