
ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดอาหารท้องถิ่นสุดฮิตในช่วงฤดูร้อน สำหรับ “ไข่มดแดง” เนื่องจากในฤดูร้อนและหน้าแล้งเป็นช่วงที่มดแดงจะออกไข่จำนวนมาก แม้จะเป็นเมนูบ้าน ๆ แต่เรื่องคุณค่าทางโภชนาการของไข่มดแดงจัดว่าสูงไม่แพ้ราคาทีเดียว แต่ต้องกินอย่างถูกวิธีไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเจ็บป่วยได้
ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ไข่มดแดงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนชนบทมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในจำนวนไข่มดแดงปริมาณ 100 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนกินข้าว) มีไขมัน 2.6 กรัม โปรตีน 8.2 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.16 กรัม และวิตามินบีสอง 4.68 มิลลิกรัม เมื่อนำมาเทียบกับไข่ไก่จัดว่าไข่มดแดงมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากไข่ไก่ มีไขมันสูงถึง 9.65 กรัม โปรตีน 12.77 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม และวิตามินบีสอง 0.37 มิลลิกรัม
สำหรับปริมาณกิโลแคลอรีในไข่มดแดงนั้นให้พลังงาน 86 กิโลแคลอรี ในขณะที่ไข่ไก่ให้พลังงานถึง 155 กิโลแคลอรี เมื่อเทียบคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน เมื่อเทียบกับไข่ไก่ ไข่มดแดงก็คงจะไม่ได้มีโปรตีนมากกว่า เพราะตัวไข่มดแดงค่อนข้างจะมีน้ำมาก แต่จุดที่น่าสนใจคือ ในปริมาณเดียวกันไข่มดแดงจะมีธาตุเหล็กสูงกว่าไข่ไก่ นอกจากนี้ไข่มดแดงยังมีสรรพคุณทางยาช่วยระบายท้อง ช่วยให้เจริญอาหาร และเป็นอาหารบำรุงธาตุน้ำ
สำหรับเมนูที่นิยมนำไข่มดแดงมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงผักหวานไข่มดแดง แกงเห็ดไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง หรือยำไข่มดแดง รวมถึงนำไปรับประทานสด ๆ เลยก็มี ซึ่งอย่างหลังไม่แนะนำ เนื่องจากมดแดงที่อาศัยในรังถือเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่อาศัยหากินอยู่ตามพื้นดิน และยังนิยมกินซากสิ่งสกปรก รวมทั้งมูลสัตว์ จึงอาจมีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกติดตัวกลับไปที่รัง เมื่อไปเหยียบย่ำบนไข่ในรัง ก็จะมีการปนเปื้อนได้ ซึ่งหากจะนำมารับประทาน โดยไม่ได้ทำความสะอาดเสียก่อนก็จะได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย
แม้ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องการเป็นพาหะนำโรคของมดแดงที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอยู่ในตัวของมดก่อนที่จะมีการวางไข่ และทำให้เชื้อโรคปะปนแทรกตัวอยู่ในไข่ แต่ก็ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของไข่มดแดงก่อนจะนำมาปรุงอาหาร เพราะหากกินไข่มดแดงที่มีการปดเปื้อนอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
ฉะนั้น การนำไข่มดแดงมาปรุงอาหารควรล้างให้สะอาดเสียก่อน โดยล้างอย่างน้อย 3 ครั้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านสัก 2 นาที หรือแช่น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดาหรือผงฟูแล้วค่อยล้างด้วยน้ำสะอาด และนำมาปรุงให้สุกทุกครั้ง ไม่ควรกินแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ในส่วนของเมนูยำ เช่น ยำไขมดแดง ไม่ควรเก็บไว้ค้างมื้อโดยเด็ดขาด เพราะบูดเสียได้ง่าย ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการปวดท้องและโรคอุจจาระร่วงตามมา
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ควรระมัดระวังการกินไข่มดแดง เนื่องจากถ้าหากกินมากจะทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง