WFH ทำพิษ! นั่งนาน-นั่งไม่ถูกวิธี เสี่ยงป่วยออฟฟิศซินโดรม

0

จากนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วัยทำงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงาน อีกทั้งอุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิด “โรคออฟฟิศซินโดรม” ตามมาได้

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นโรคที่วัยทำงานมีความเสี่ยงที่จะเป็นสูง สัญญาณเตือนของอาการที่พบบ่อยมี 3 อาการ ได้แก่

1. ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ไม่เต็มร้อย

2. ปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

3. อาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นและนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

อย่างไรก็ตาม วัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้ 

1. ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย

2. หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่

3. ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที หากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง รวมถึงควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี

4. ขณะทำงานให้กระพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือให้พักหลับตาประมาณ 3 – 5 วินาที บ่อย ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ควรมีการพักสายตาเป็นช่วงสั้นๆ จากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง ให้พักสายตาประมาณ 5 – 10 นาที โดยละสายตาจากคอมพิวเตอร์มองไปไกล ๆ หากรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา ให้พักสายตาทันที อย่าฝืนทำงานต่อ

6. ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์ 

7. ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน

และที่สำคัญอย่าลืมกินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่ เลือกอาหารมีความหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงทำใจให้สบายไม่เครียด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *